backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 01/10/2020

ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่กำลังมีภาวะคออักเสบ โรคไข้อีดำอีแดงนี้จะมีลักษณะเด่นคือ มีผื่นสีแดงสดเกิดขึ้นตามลำตัว

คำจำกัดความ

โรคไข้อีดำอีแดง คืออะไร

โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่กำลังมีภาวะคออักเสบ โรคไข้อีดำอีแดงนี้จะมีลักษณะเด่นคือ มีผื่นสีแดงสดเกิดขึ้นตามลำตัว พร้อมกับอาการไข้สูง และเจ็บคอ โดยเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไข้อีดำอีแดงนี้ จะเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกัน กับที่ทำให้เกิดภาวะคออักเสบ

โรคไข้อีดำอีแดงนั้นจะพบได้มากในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี แม้ว่าโรคไข้อีดำอีแดงนี้อาจจะมีความอันตรายค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถจัดการได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อหัวใจ ไต และอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้

โรคไข้อีดำอีแดง พบบ่อยแค่ไหน

โรคไข้อีดำอีแดงนี้มักจะพบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-15 ปี และจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภาวะคออักเสบอยู่ก่อนแล้ว

อาการ

อาการของโรคไข้อีดำอีแดง

สัญญาณและอาการของโรคไข้อีดำอีแดง มีดังต่อไปนี้

  • ผื่นแดง ผู้ป่วยจะมีผื่นสีแดงขึ้นตามตัว เกือบทั่วทั้งร่างกาย ผื่นแดงนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับอาการแดดเผา จะพบได้มากในบริเวณใบหน้า คอ และลามลงมายังลำตัว แขน หรือขา
  • รอยแดง นอกจากผื่นแดงแล้ว ยังอาจจะมีรอยเป็นเส้นสีแดง ขึ้นตามบริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ขาหนีบ รักแร้ ข้อศอก หรือเข่า
  • หน้าแดง
  • ลิ้นจะเป็นสีแดงคล้ายสตอว์เบอร์รี เป็นตะปุ่มตะป่ำ และมักจะมีคราบสีขาวที่ลิ้น เนื่องจากภาวะคออักเสบที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว
  • เป็นไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • มีอาการหนาวสั่น
  • เจ็บคอ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • คอบวม
  • กลืนลำบาก
  • ปวดหัว

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรคโปรดปรึกษาแพทย์

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของโรคไข้อีดำอีแดง

โรคไข้อีดำอีแดงนั้น เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่มเอ หรือ เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pyogenes ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถพบได้ภายในปากและโพรงจมูกของคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะคออักเสบได้

เชื้อแบคทีเรียนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางละอองฝอยหรือน้ำลาย เมื่อเราไอหรือจาม และจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 2-4 วัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไข้อีดำอีแดง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคไข้อีดำอีแดง มีดังต่อไปนี้

  • เป็นเด็กที่มีอายุ 5-15 ปี
  • เป็นผู้ที่มีภาวะคออักเสบ
  • หากคนรอบตัว กำลังเป็นโรคไข้อีดำอีแดง หรือมีภาวะคออักเสบ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคไข้อีดำอีแดง

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคไข้อีดำอีแดงได้ ด้วยการตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณและอาการของโรคไข้อีดำอีแดง โดยการตรวจดูลิ้น คอ และต่อมทอนซิล (Tonsil) นอกจากนี้ยังอาจจะต้องตรวจดูต่อมน้ำเหลืองที่มีอาการบวม และดูลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้นอีกด้วย

หากแพทย์สงสัยว่าลูกของคุณอาจจะเป็นโรคไข้อีดำอีแดง แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่คอไปตรวจเพาะเชื้อ และส่งเข้าห้องแล็บเพื่อตรวจดูว่าเป็นเชื้อโรคชนิดใด หากพบว่ามีเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่มเอ อยู่ แพทย์ก็อาจจะสามารถตัดสินได้ว่าเป็นโรคไข้อีดำอีแดง

การรักษาไข้อีดำอีแดง

โรคไข้อีดำอีแดง สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อทำหน้าที่ช่วยระบบภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค อย่าลืมคอยดูแลให้ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะจนครบชุดตามที่แพทย์กำหนด เพราะหากหยุดยาไปก่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ แพทย์ก็อาจจะสั่งยาแก้ปวดธรรมดา เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยจัดการกับอาการไข้และอาการปวด แต่ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดรายซินโดรม (Reye’s Syndrome) ได้

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับไข้อีดำอีแดง

เราสามารถป้องกันโรคไข้อีดำอีแดงได้ ด้วยการปรับไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้

  • ล้างมือบ่อยๆ การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรียได้
  • ไม่แบ่งของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ของใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู แก้วน้ำ ควรใช้อยู่คนเดียว อย่าไปยืมหรือให้คนอื่นมาใช้ร่วมกัน
  • ปิดปากเวลาจามและไอ จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นได้
  • หากลูกของคุณเป็นไข้อีดำอีแดง ควรล้างทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ แก้วน้ำ จานชาม และของเล่นที่เด็กใช้ทั้งหมดให้สะอาดด้วย

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 01/10/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา