backup og meta

เป็น โรคเก๊าท์ ห้ามกินอะไร และควรกินอะไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/11/2023

    เป็น โรคเก๊าท์ ห้ามกินอะไร และควรกินอะไร

    โรคเก๊าท์ เป็นภาวะข้ออักเสบรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากมีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ โดยทั่วไป โรคเก๊าท์รักษาได้ด้วยการรับประทานยาตามคุณหมอสั่ง ร่วมกับการเลือกบริโภคอาหารให้เหมาะสม ถ้าเป็น โรคเก๊าท์ ห้ามกินอะไร คำตอบคือ ควรงดอาหารทะเล เนื้อแดง สัตว์ปีก และเครื่องในสัตว์ เพราะอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยสารพิวรีน (Purine) ซึ่งเมื่อบริโภคแล้วมักทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นจนเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเก๊าท์ หรือทำให้โรคเก๊าท์กำเริบได้

    โรคเก๊าท์ คืออะไร

    โรคเก๊าท์ หรือโรคเกาต์ เป็นภาวะข้ออักเสบที่มักพบในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มีสาเหตุมาจากระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ โดยร่างกายจะได้รับกรดยูริกจากการบริโภคอาหารที่มีสารพิวรีนเป็นส่วนประกอบ

    เมื่อเป็นโรคเก๊าท์ จะมีอาการปวดตามข้อต่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อศอก หรือหัวเข่า ซึ่งมักส่งผลให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน

    ทั้งนี้ อาจบรรเทาอาการของโรคเก๊าท์ให้ดีขึ้นได้ด้วยการรับประทานยา ร่วมกับการเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มให้เหมาะสม

    เป็น โรคเก๊าท์ ห้ามกินอะไร

    เมื่อเป็นโรคเก๊าท์ ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ได้แก่ อาหารทะเลโดยเฉพาะหอยและปลาน้ำลึกอย่างแซลมอน ทูน่า ปลากะพง เนื้อแดง สัตว์ปีก และเครื่องในสัตว์ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ เหล้า ไวน์ เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารพิวรีนในปริมาณมากจะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้อาการของโรคเก๊าท์กำเริบได้

    งานวิจัยหนึ่ง เรื่องการบริโภคอาหารที่มีสารพิวรีนสูงต่ออาการเก๊าท์กำเริบ เผยแพร่ในวารสาร Annals of the Rheumatic Diseases ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จำนวน 633 ราย เกี่ยวกับอาการของโรค อาหารที่รับประทาน รวมถึงยาที่ใช้ โดยพบข้อสรุปว่า การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เพิ่มความเสี่ยงให้อาการของโรคเก๊าท์กำเริบ 5 เท่า และการงดอาหารดังกล่าว โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาจช่วยลดความเสี่ยงอาการของโรคเก๊าท์กำเริบได้

    นอกจากนี้ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการบริโภคคือของหวานต่าง ๆ เช่น เค้ก คุกกี้ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง น้ำสลัด โยเกิร์ตแต่งรสหวาน เพราะร่างกายจะย่อยน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) ในอาหารหรือเครื่องดื่มดังกล่าวให้กลายเป็นสารพิวรีนและเมื่อร่างกายย่อยพิวรีนซ้ำกลายเป็นกรดยูริกจึงส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น

    สำหรับผักบางชนิดที่มีพิวรีนสูงอย่างกะหล่ำดอก เห็ด หรือหน่อไม้ฝรั่งสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากไม่มีรายงานว่าการบริโภคผักเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคเก๊าท์แต่อย่างใด

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่อุดมไปด้วยสารพิวรีนต่อความเสี่ยงโรคเก๊าท์ในประชากรผู้ใหญ่ชาวจีน เผยแพร่ในวารสาร Nutrients พ.ศ.2563 ระบุว่า อาหารที่อุดมไปด้วยสารพิวรีนโดยเฉพาะเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล อาจเพิ่มความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเก๊าท์ อย่างไรก็ตาม การบริโภคผักที่อุดมไปด้วยสารพิวรีนนั้นไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเก๊าท์

    เป็น โรคเก๊าท์ ควรกินอะไร

    เมื่อเป็นโรคเก๊าท์ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อลดโอกาสเสี่ยงโรคเก๊าท์กำเริบ ได้แก่

    • ผลไม้ โดยเฉพาะเชอร์รี่ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือด งานวิจัยหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเชอร์รี่ในการช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือด ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutrition ปี พ.ศ. 2546 นักวิจัยได้ให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงสุขภาพดี อายุระหว่าง 22-40 ปี รับประทานเชอร์รี่จำนวน 280 กรัมในตอนเช้าหลังจากอดอาหารข้ามคืน เพื่อเปรียบเทียบระดับกรดยูริกในเลือดตอนก่อนและหลังรับประทานเชอร์รี่ ผลปรากฏว่า หลังรับประทานเชอร์รี่ กลุ่มตัวอย่างมีระดับกรดยูริกในเลือดลดลง จึงสรุปว่า การรับประทานเชอร์รี่อาจช่วยต้านโรคเก๊าท์ได้
    • ผัก ชนิดต่าง ๆ เช่น มันฝรั่ง มะเขือม่วง ผักใบเขียวต่าง ๆ
    • ถั่ว ชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วลิสง อัลมอนด์ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากถั่วอย่างเต้าหู้
    • ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์
    • เครื่องดื่ม เช่น กาแฟ ชา ชาเขียว
    • น้ำมัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/11/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา