backup og meta

อาหารคนเป็นโรคไต และวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเมื่อเป็นโรคไต

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 19/04/2023

    อาหารคนเป็นโรคไต และวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเมื่อเป็นโรคไต

    โรคไต คือ ภาวะที่ไตทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาหารคนเป็นโรคไต ควรเป็นอาหารที่มีโซเดียมต่ำ และมีโปรตีนน้อย นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตยังควรจำกัดการบริโภคของเหลว โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เพื่อไม่ให้มีสารอาหารส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกายและทำให้ไตทำงานหนักเกินไปจนเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับระยะของโรคไตที่เป็นอยู่ เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมของไตและควบคุมไม่ให้อาการแย่ลง

    โรคไตเกิดจากอะไร

    โรคไต (Kidney disease) เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อไตเสียหายและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ สาเหตุของโรคไตที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ พฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารรสเค็มจัด ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต

    โดยทั่วไป หน้าที่หลักของไต คือ การกรองเลือดและการกำจัดของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ เมื่อเป็นโรคไตนานหลายปีจนพัฒนาเป็นโรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) อาจทำให้มีของเหลว อิเล็กโทรไลต์ และของเสียสะสมในร่างกายในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

    คนที่มีสุขภาพดีควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงให้หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมไปถึงโรคไตได้

    อาหารคนเป็นโรคไต

    ผู้ป่วยโรคไตจำเป็นต้องจำกัดการบริโภคอาหารบางประเภทเพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไป และโรคไตมักจะเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังหลายอย่างจึงควรรับประทานอาหารที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต รวมถึงช่วยควบคุมคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย เพราะอาจช่วยยืดอายุการทำงานของไตได้นานขึ้น

    การวางแผนรับประทานอาหารตั้งแต่เป็นโรคไตในระยะแรก ๆ จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ โดยอาหารของคนเป็นโรคไตในแต่ะละระยะจะแตกต่างกัน จึงควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ การกินอาหารโรคไตในช่วงแรก อาจมุ่งเน้นไปที่การปรับจำนวนมื้ออาหารและกำหนดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้เหมาะสมมากขึ้น

    สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังหรือไตทำงานได้น้อยมาก อาจต้องลดโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และโปรตีนในอาหาร อาจต้องมีนักโภชนาการคอยดูแลเรื่อง อาหารคนเป็นโรคไต (Renal diet) และช่วยวางแผนประเภทอาหารและเมนูอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

    อาหารที่เหมาะกับคนเป็นโรคไต อาจมีดังนี้

    • ผัก เช่น กระเทียม กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี หัวหอม มะเขือม่วง
    • ผลไม้ เช่น องุ่นแดง เชอร์รี่ แอปเปิล ลูกพลัม สับปะรด
    • อาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อไก่ที่ไม่ติดหนังและไขมัน เนื้อปลา ไข่ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชเต็มเมล็ด ในปริมาณที่เหมาะสม
    • อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ขนมปังขาว เบเกิล พาสต้า
    • เครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า ชาไม่เติมน้ำตาล
    • น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันดอกคำฝอย
    • อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ตับ เลือด เนื้อแดง ไข่แดง ซีเรียลเสริมธาตุเหล็ก เนื่องจากผู้ป่วยไตวายระยะรุนแรงมักมีภาวะโลหิตจางและจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอถึงปริมาณในการบริโภคที่เหมาะสมด้วย

    อาหารคนเป็นโรคไต ห้ามกิน

    อาหารที่คนเป็นโรคไต โดยเฉพาะในระยะรุนแรง ควรบริโภคแต่น้อยหรืองดบริโภค อาจมีดังนี้

    • อาหารโซเดียมสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างแฮม ไส้กรอก ไส้อั่ว เนื้อแดดเดียว กุ้งแห้ง ส้มตำ ผลไม้กระป๋อง รวมไปถึงเกลือแกงและเครื่องปรุงรสอย่างซีอิ๊ว น้ำมันหอย
    • อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น มะเขือเทศ แครอทดิบ ผักใบเขียว (ยกเว้นผักคะน้า) แตงโม ส้ม มันฝรั่ง กีวี ลูกเกด แคนตาลูป
    • อาหารที่มีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูง เช่น นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวอย่างนม ไอศกรีม โยเกิร์ต ชีส เครื่องดื่มบำรุงกำลังหรือเกลือแร่ อาหารแช่แข็ง เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างเบคอน โบโลน่า นักเก็ตไก่ ช็อคโกแลต คาราเมล

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคไต

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคไต อาจทำได้ดังนี้

  • ซื้ออาหารที่สดใหม่และทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน เพราะอาหารจากร้านอาหารมักใส่เครื่องปรุงรสในปริมาณมาก
  • อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนซื้ออาหาร และเลือกชนิดที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ
  • รับประทานอาหารรสจัด เช่น เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด แต่น้อย
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารน้ำตาลสูง เช่น มันฝรั่งทอด น้ำหวาน ไอศกรีม น้ำอัดลม โดนัท เครื่องดื่มชูกำลัง รวมไปถึงอาหารฟาสต์ฟูดที่มีไขมันสูงเพราะจะทำให้มีไขมันในเลือดสูง
  • ล้างวัตถุดิบ เช่น ผัก ผลไม้ ให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาประกอบอาหาร เพื่อลดสารเคมีตกค้าง และล้างอาหารกระป๋องด้วยน้ำหรือระบายน้ำออกเพื่อขจัดโซเดียมส่วนเกิน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มแต่พอดี สำหรับผู้หญิง คือ ไม่เกิน 1 แก้ว/วัน สำหรับผู้ชาย คือ ไม่เกิน 2 แก้ว/วัน
  • หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง เนื่องจากมีโซเดียมสูง ผู้ป่วยโรคไตอาจไม่สามารถขับโซเดียมได้อย่างมีประสิทธิภาพและอาจส่งผลให้มีโซเดียมและของเหลวส่วนเกินสะสมในร่างกาย รวมไปถึงรอบ ๆ หัวใจและปอด จึงควรจำกัดการบริโภคโซเดียมให้น้อยกว่า 2 กรัม/วัน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 19/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา