backup og meta

กินคลีน ดีไหม มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 12/09/2022

    กินคลีน ดีไหม มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

    กินคลีน หมายถึง การเลือกบริโภคอาหารที่มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ผ่านการแปรรูปน้อย หรือมีสารปรุงแต่งในปริมาณน้อย เช่น ผักและผลไม้สด ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เลี้ยงแบบฟาร์มเปิด คาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีท ข้าวโพด เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากสารอาหารตามธรรมชาติมากที่สุด ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารแปรรูปต่าง ๆ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารอบแห้งและทอดกรอบ เพราะอุดมไปด้วยน้ำตาล เกลือ ไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และสารสังเคราะห์ต่าง ๆ เช่น สารกันเสีย สีสังเคราะห์ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

    กินคลีน คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อสุขภาพ

    กินคลีน เป็นการบริโภคอาหารที่ใกล้เคียงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปหรือแต่งรสในระดับที่น้อยที่สุด โดยมีประโยชน์ต่อสุขภาพดังนี้

    • ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ อย่างเต็มที่และครบถ้วน ลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคต่าง ๆ
    • ร่างกายได้รับโปรตีนคุณภาพสูงและไขมันชนิดดีเพื่อช่วยปรับปรุงสุขภาพสมองและหัวใจ
    • เพิ่มระดับพลังงาน ช่วยควบคุมการจัดการน้ำหนัก และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

    กินคลีน ควรบริโภคอาหารประเภทไหน

    ผู้ที่ต้องการกินคลีน ควรบริโภคอาหารตามลักษณะต่อไปนี้

    ผักและผลไม้

    หากต้องการกินคลีน ควรบริโภคผักและผลไม้สด ๆ หรือผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกายและการป้องกันโรคมากที่สุด

    งานวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผักและผลไม้ กับความเสี่ยงโรคมะเร็ง เผยแพร่ในวารสาร British Journal of Nutrition ปี พ.ศ. 2558 ระบุโดยอ้างอิงข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการทดลองกว่า 10,000 ราย พบว่าการบริโภคผักและผลไม้อย่างผักตระกูลกะหล่ำทั้งแบบดิบและปรุงสุก ผลไม้ตระกูลส้ม แอปเปิลและมะเขือเทศที่อุดมไปด้วย ใยอาหาร สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารโพรแอนโทไซยานิดิน (Proanthocyanidins) อาจช่วยป้องกันมะเร็งได้หลายชนิด

    คาร์โบไฮเดรต

    ผู้ที่กินคลีนควรบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสีเพราะคงคุณค่าสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินต่าง ๆ ไว้เกือบครบถ้วน อย่างข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง ข้าวโพด ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชต่าง ๆ และควรจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตขัดสี เนื่องจากการแปรรูปทำให้สารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ลดน้อยลงหรือหมดไปจนเหลือเพียงจำนวนแคลอรี่เท่านั้น เช่น น้ำตาล ข้าวขาว ขนมปังขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว หากบริโภคในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากการบริโภคน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตขัดสีในประชากรชาวอินเดีย ตีพิมพ์ในวารสาร Missouri Medicine ปี พ.ศ. 2559 โดยงานวิจัยรายงานว่า น้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตขัดสีเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) เพิ่มสูงขึ้น และทำให้เซลล์ในร่างกายเกิดการอักเสบหรือผิดปกติ

    งานวิจัยระบุเพิ่มเติมว่า หากบริโภคคาร์โบไฮเดรตขัดสีในปริมาณจำกัด โดยจำกัดปริมาณน้ำตาลที่บริโภคต่อวันให้เหลือไม่เกิน 5 กรัม อาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    ไขมัน

    ผู้ที่กินคลีนควรบริโภคไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โอเมกา 3 ซึ่งพบได้ในอะโวคาโด ปลา และถั่วบางชนิด โดยไขมันชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยลดไตรกลีเซอไรด์และความดันโลหิต รวมถึงช่วยชะลอภาวะหลอดเลือดตีบแคบหรืออุดตันซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ

    นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคครีมเทียม เนยขาว ขนมหวานสำเร็จรูป ของทอดต่าง ๆ และเนยเทียมหรือมาการีน เพราะมีไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกายอย่างไขมันทรานส์ (Trans Fat) เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้ว มักทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) และไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น นำไปสู่โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด

    ผลิตภัณฑ์จากสัตว์

    ผู้ที่กินคลีนควรเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ ไข่ หรือนม จากฟาร์มเปิด ไม่ใช้สารเคมี แทนฟาร์มปิดที่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการบริโภคเนื้อสัตว์ที่กินหญ้าต่อการเพิ่มระดับกรดไขมันโอเมกา 3 ในร่างกายของผู้บริโภค เผยแพร่ในวารสาร British Journal of Nutrition ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มแรกบริโภคเนื้อแกะหรือเนื้อวัวที่เลี้ยงด้วยหญ้า และให้อีกกลุ่มบริโภคเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารข้น ในปริมาณและระยะเวลา 4 สัปดาห์เท่ากัน

    เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยได้ตรวจร่างกายของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่บริโภคเนื้อแกะหรือเนื้อวัวที่เลี้ยงด้วยหญ้า มีระดับโอเมกา 3 ที่สูงกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตในทั้ง 2 กลุ่มจะไม่แตกต่างกันก็ตาม

    อาหารแปรรูป

    ผู้ที่กินคลีนควรหลีกเลี่ยงบริโภคอาหารแปรรูป เพราะมีสารอาหารต่ำ แต่มีน้ำตาลหรือโซเดียมสูง ทั้งยังประกอบไปด้วยไขมันชนิดไม่ดี รวมถึงสารสังเคราะห์ต่าง ๆ เช่น สีผสมอาหาร สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สารกันบูด

    อาหารที่จัดว่าเป็นอาหารแปรรูป มีดังต่อไปนี้

    • มันฝรั่งทอดกรอบ
    • ขนมหวาน เช่น เค้ก คุกกี้ พาย
    • น้ำอัดลม
    • ผัก-ผลไม้กระป๋อง
    • ไส้กรอก
    • แฮม
    • อาหารสำเร็จรูปแบบพร้อมรับประทานเมื่ออุ่นด้วยไมโครเวฟ

    อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ผู้ที่ต้องการกินคลีนควรอ่านฉลากของอาหาร เครื่องดื่ม หรือเครื่องปรุงแต่ละชนิดให้ถี่ถ้วน เช่น ซอสมะเขือเทศ โยเกิร์ต เพราะอาจมีน้ำตาล เกลือ หรือสารสังเคราะห์ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

    เครื่องดื่ม

    หากต้องการกินคลีนควรเลือกดื่มเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล หรือไม่เติมน้ำตาล เช่น น้ำเปล่า ชา กาแฟดำ และควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นสาเหตุของโรคตับ โรคอ้วน และโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร

    ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการ กินคลีน

    อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการกินคลีนสามารถบริโภคได้นั้นมีหลายเมนู ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    • สลัดผัก
    • สลัดผลไม้
    • ผักต้ม ถั่วต้ม
    • ไก่ย่าง ไก่ปิ้ง
    • สเต็กเนื้อสัตว์ต่าง ๆ
    • แพนเค้กข้าวโอ๊ต
    • โจ๊กข้าวไรซ์เบอร์รี่
    • แซนด์วิชอกไก่
    • อกไก่อบซอส
    • ไข่ตุ๋น

    สำหรับผู้ที่ไม่กินคลีนควรเลือกบริโภคอาหารต่าง ๆ ให้ได้สารอาหารครบถ้วนในสัดส่วนที่เหมาะสม ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ออกกำลังกายเป็นประจำ หาวิธีกำจัดความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็สามารถมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงได้เช่นเดียวกัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 12/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา