backup og meta

กรดยูริคสูง ต้องกินอะไร และควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/10/2023

    กรดยูริคสูง ต้องกินอะไร และควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไร

    กรดยูริคสูง เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดกรดยูริคออกด้วยการขับถ่ายได้ทัน ทำให้มีกรดยูริคสะสมอยู่ในกระแสเลือด และอาจตกตะกอนกลายเป็นผลึกไปเกาะตามอวัยวะต่าง ๆ ทั้งในระบบทางเดินปัสสาวะและข้อต่อ การศึกษาว่า กรดยูริคสูง ต้องกินอะไร และควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดไหน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับกรดยูริคให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนเนื่องจากมีกรดยูริคสูงเกินไปเป็นเวลานานอย่างโรคเกาต์และโรคนิ่วในไตได้

    กรดยูริค คืออะไร

    กรดยูริค (Uric acid) เป็นสารที่ได้จากการย่อยสลายสารพิวรีน (Purine) ในระบบย่อยอาหาร โดยทั่วไป กรดยูริคที่สะสมอยู่ในเลือดจะมาจากการกระบวนการสร้างของร่างกายประมาณร้อยละ 80 และมาจากอาหารที่กินประมาณร้อยละ 20 ปกติแล้ว ร่างกายจะขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่หากร่างกายกำจัดกรดยูริคไม่ทัน อาจทำให้มีกรดยูริคสะสมในเลือดในระดับสูงผิดปกติได้ โดยทั่วไป ระดับยูริคในเลือดของผู้ใหญ่เพศชายจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-7.2 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนในผู้ใหญ่เพศหญิงจะอยู่ที่ประมาณ 2.6-6.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    ภาวะกรดยูริคสูง ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

    ภาวะกรดยูริคสูง (Hyperuricemia) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีกรดยูริคสะสมอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายผลิตพิวรีนมากเกินไป ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรับประทานอาหารที่มีพิวรินสูงเป็นประจำ นอกจากนี้ ภาวะกรดยูริคสูงยังอาจเกิดร่วมกับภาวะสุขภาพบางประการ เช่น โรคอ้วน โรคไตเรื้อรัง โรคความดันเลือดสูง

    โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะกรดยูริคในเลือดสูงจะไม่มีอาการและไม่ต้องการการรักษาในระยะยาว แต่หากมีระดับกรดยูริคสูงเกิน 7 มิลลิกรัม/เดซิลิตรเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น

    • โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อย เกิดจากร่างกายมีกรดยูริคมากเกินไปเป็นเวลานานจนกรดยูริคตกตะกอนเป็นผลึกและสะสมอยู่ในข้อต่อและเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้มีอาการปวดเฉียบพลันและรุนแรง และมีอาการบวมแดงโดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า
    • โรคนิ่วในไต (Kidney Stones) เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายมีแร่ธาตุแข็ง เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต กรดยูริค สะสมอยู่ในปริมาณมากจนไม่สามารถละลายหรือทำให้เข้มข้นน้อยลงได้ ส่งผลให้สารเหล่านี้สะสมในปัสสาวะ จนเกิดเป็นก้อนนิ่วในอวัยวะต่าง ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมไปถึงบริเวณกรวยไต ท่อไต ไต เป็นเหตุให้ไตทำงานผิดปกติ และอาจทำให้เกิดโรคไตได้

    กรดยูริคสูง ต้องกินอะไร

    อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีกรดยูริคสูง อาจมีดังนี้

    • ผักและผลไม้สดใหม่ เช่น ปวยเล้ง คะน้า ใบขี้เหล็ก ข้าวโพด มันเทศ ฝรั่ง เชอร์รี่ ส้ม
    • ธัญพืช เช่น ข้าว พาสต้า ขนมปังซีเรียล (ยกเว้นข้าวโอ๊ต)
    • อาหารไขมันต่ำ เช่น โยเกิร์ตไขมันต่ำ นมพร่องมันเนย
    • ไข่ไก่ ไข่เป็ด

    ผู้ที่มีภาวะกรดยูริคสูงควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน การดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอจะช่วยในการทำงานของไตและทำให้ร่างกายขับกรดยูริคออกได้มากขึ้น นอกจากนี้ การดื่มของเหลวอื่น ๆ เช่น น้ำวิตามินซี กาแฟ ก็มีส่วนช่วยลดระดับกรดยูริคได้เช่นกัน ทั้งนี้ ควรดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากเกินไป

    อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อมีกรดยูริคสูง

    อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อมีกรดยูริคสูง อาจมีดังนี้

  • เนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว
  • อวัยวะและเครื่องในสัตว์ เช่น ตับหมู สมองหมู
  • เนื้อสัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อห่าน
  • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว
  • ผักบางชนิด เช่น กระถิน หน่อไม้ กะหล่ำดอก หน่อไม้ฝรั่ง
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ วอดก้า
  • อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลากะตัก หอยแมลงภู่ หอยนางรม
  • ยีสต์และสารสกัดจากยีสต์
  • อาหารที่มีฟรุกโตสสูง เช่น น้ำอัดลม โซดา น้ำผลไม้เติมน้ำตาล ไอศกรีม ของหวาน อาหารฟาสต์ฟูด
  • ผู้ที่มีกรดยูริคสูงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีพิวรีนสูง แต่ก็ควรรับประทานโปรตีนจากแหล่งอื่น ๆ แทนเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ โดยแหล่งโปรตีนทดแทนที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีกรดยูริคสูง มีดังนี้

    • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วแห้ง ถั่วลิสง ถั่วเลนทิล ถั่วแขก ถั่วพู อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์
    • อาหารจากถั่วเหลือง เช่น นมถั่วเหลือง เนยถั่วเหลือง เต้าหู้
    • เมล็ดพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดเจีย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา