backup og meta

สูตร ไข่คน และประโยชน์ต่อสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/10/2022

    สูตร ไข่คน และประโยชน์ต่อสุขภาพ

    ไข่คน เป็นเมนูง่าย ๆ ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารมากมายของไข่ ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน ลูทีน (Lutein) แคลเซียม (Calcium) รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงสายตา ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และยังดีต่อการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย

    ประโยชน์ทางสุขภาพของ ไข่ ที่ควรรู้

    ไข่เป็นหนึ่งในอาหารที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน และค่อนข้างให้คุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกายอย่างมาก เพราะเนื่องจากไข่ประกอบไปด้วยสารอาหารหลากชนิดไม่ว่าจะเป็นวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน ลูทีน แคลเซียม เป็นต้น ดังนั้น เมื่อรับประทานเข้าไป ก็อาจทำให้ได้รับประโยชน์ในการช่วยปรับปรุงสุขภาพ ดังต่อไปนี้

    • ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ

    เนื่องจากไข่มีโคลีน (Choline) อยู่ภายในที่มีบทบาทสำคัญในการลดสารโฮโมซิสทีน หรือโฮโมซิสเตอีน (Homocysteine) ที่เป็นตัวการก่อให้เกิดโรคหัวใจ

    • เพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

    วิตามินเอ วิตามินบี12 และซีลีเนียม (Selenium) อาจเป็นสารอาหารสำคัญอีกอย่างที่คอยช่วยเสริมสร้างการทำงานของภูมิคุ้มกันให้มีความแข็งแรง พร้อมช่วยขจัดสิ่งแปลกปลอมที่แทรกเข้ามาในร่างกายได้ทุกเมื่อ

  • บำรุงสายตา
  • เป็นที่ทราบกันดีว่าลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) สามารถช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของจอประสาทตาได้ ซึ่งในไข่ที่รับประทานในปัจจุบันนี้ก็ล้วนประกอบไปด้วยสารอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้เช่นเดียวกัน จึงอาจทำให้ผู้บริโภคไข่บางคนอย่างเป็นประจำนั้นได้รับลูทีน และซีแซนทีนเข้าไปเพื่อช่วยส่งเสริมด้านการมองเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    • ฟื้นฟูผิว

    ด้วยแร่ธาตุ และวิตามินบางชนิดในไข่ อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันการสลายตัวของเนื้อเยื่อในร่างกาย จึงทำให้ผิวพรรณอิ่มฟู ดูเต่งตึงอยู่เสมอ

    • ลดน้ำหนัก

    เนื่องด้วยโปรตีนในไข่ ค่อนข้างให้ความอิ่มตัวอยู่พอสมควร แต่ยังคงให้แคลอรี่ที่ต่ำ ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปจึงอาจทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้อย่างยาวนาน ลดการรับประทานอาหาร หรือของว่างโดยไม่จำเป็น

    แต่ถึงอย่างไร หากมีความต้องการสารอาหารให้เพียงพอต่อวัน ที่มิใช่การทานไข่เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องทานร่วมกับผัก เนื้อสัตว์ และคาร์โบไฮเดรต อื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ยังคงเน้นปริมาณของไข่ให้มากกว่า โดยอาจรับประทานอยู่ที่ปริมาณ 2-4 ฟองด้วยกัน

    สูตรไข่คน

    วัตถุดิบในการทำ ไข่คน

    • ไข่                  2          ฟอง (หรือตามจำนวนที่ต้องการรับประทาน)
    • นมสด            1/2       ถ้วย
    • เนย                2           ช้อนโต๊ะ
    • เกลือ
    • พริกไทยดำ หรือพริกไทยขาว

    อุปกรณ์ในการทำ ไข่คน

    • กระทะ
    • ตะหลิวยาง ชนิดทนความร้อน

    ขั้นตอนการทำ ไข่คน

    1. ตอกไข่ที่เตรียมไว้ลงในภาชนะ แล้วตีให้เข้ากัน จนมีเนื้อสีเหลืองนวลสวย
    2. เติมนมสด พร้อมปรุงรสด้วยพริกไทยดำ และเกลือเล็กน้อย เพื่อเพิ่มรสชาติ
    3. ตีไข่ และเครื่องปรุงเข้ากัน โดยสังเกตจากเครื่องปรุงที่ต้องไม่จับตัวเป็นก้อน
    4. เตรียมกระทะ ตั้งไฟอ่อน พร้อมใส่เนยลงไป
    5. เมื่อได้ยินเสียงความร้อนของเนยเล็กน้อย ให้นำไข่ที่ตีไว้ เทลงไป โดยห้ามกวนไข่เด็ดขาด และปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที จนกว่าไข่จะเซ็ตตัว
    6. ใช้ตะหลิวยางแบบทนความร้อน ค่อย ๆ แซะไข่ตามขอบกระทะรอบ ๆ เข้าไปรวมตรงกลาง เพื่อให้ไข่ส่วนอื่น ๆ ที่ยังเหลวลงไปโดนความร้อนด้านล่างของกระทะ
    7. จากนั้นปิดไฟ และค่อย ๆ ผัดไข่ส่วนที่ยังไม่สุกอีกรอบให้สุกทั้งหมด เมื่อพอใจแล้วนำจัดใส่จานพร้อมรับประทานได้ทันที

    นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มเนื้อสัตว์ หรือ ผักต่าง ๆ ลงไปในไข่ก่อนนำลงไปคนในกระทะได้ และอาจรับประทานแบบกึ่งสุกกึ่งดิบได้ตามความชอบ แต่ถึงอย่างไรหากจะให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพนั้น ควรต้องปรุงไข่ให้สุกทั้งหมดก่อนนำไปรับประทานจะดีเสียกว่า เพราะบางครั้งไข่อาจนำพาเชื้อโรคหรือแบคทีเรียบางอย่างเข้าร่างกายได้โดยไม่รู้ตัว

    ข้อควรรู้ ก่อนการรับประทานไข่

    ก่อนนำไข่มาประกอบอาหารนั้น สิ่งแรกที่ควรรู้ คือการเลือกไข่ที่สด สะอาด โดยอาจสังเกตได้จากแผงไข่ หรือฟาร์มเกษตรกรที่มีสัญลักษณ์รับรองความปลอดภัยจากกระทรวงเกษตร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบด้านความสะอาดร่วมด้วย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคก่อนการเลือกนำมาประกอบอาหาร

    ที่สำคัญโปรดหลีกเลี่ยงการซื้อไข่ที่เปลือกแตกร้าว หมดอายุ พร้อมทั้งกรุณาเก็บรักษาไข่ที่สภาพดีไว้ในตู้เย็นเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเข้าสู่ในตัวไข่ได้รวดเร็ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา