backup og meta

มะเขือพวง ผักพื้นบ้าน แต่ประโยชน์บานตะไท

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 31/12/2021

    มะเขือพวง ผักพื้นบ้าน แต่ประโยชน์บานตะไท

    มะเขือพวง เป็นพืชไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ผลมีสีเขียว ลักษณณะเล็กและกลม จัดเป็นผักพื้นบ้านที่คนไทยหลายคนน่าจะรู้จักกันดี นิยมนำมารับประทานทั้งแบบสด เป็นผักเคียงในสำรับเมนูน้ำพริก หรือปรุงให้สุกในเมนูแกงกะทิหลายเมนู แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบรับประทานมะเขือพวง เพราะอาจจะติดเรื่องรสชาติที่ออกขม หลายคนจึงเลือกที่จะเขี่ยทิ้งไป โดยอาจไม่รู้ว่า มะเขือพวงเป็นผักพื้นบ้านที่ดีต่อสุขภาพมากทีเดียว แต่จะดีอย่างไรนั้น วันนี้ Hello คุณหมอ มีประโยชน์ดี ๆ ของการกินมะเขือพวงมาฝากค่ะ

    สารอาหารในมะเขือพวง

    มะเขือพวงแม้จะมีผลเล็กจิ๋วคล้ายกับเบอร์รี แต่ก็อัดแน่นไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นหลายชนิด โดยเฉพาะ

  • โปรตีน
  • ไฟเบอร์
  • คาร์โบไฮเดรต
  • วิตามินเอ
  • วิตามินซี
  • ยิ่งไปกว่านั้น ผลมะเขือพวง ยังอัดแน่นไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และแทนนิน (Tannin)

    ประโยชน์ของ มะเขือพวง

    ผลมะเขือพวง ดีต่อระบบย่อยอาหาร

    มะเขือพวงมีสารประกอบที่ชื่อฟีนอล (Phenol) และคลอโรจินิน (Chlorogenin) ที่มีส่วนช่วยปรับสภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหารให้เป็นกลาง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ยิ่งไปกว่านั้น ผลมะเขือพวง ยังมีไฟเบอร์สูง จึงช่วยกระตุ้นให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น

    ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด

    ผลมะเขือพวง มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ซาโปนิน (Saponin) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ไกลโคไซด์ (Glycoside) และแทนนิน (Tannin) ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ จัดเป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด การรับประทานมะเขือพวงเป็นประจำ จึงช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจ และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือโรคหลอดเลือดสมองได้

    ดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน

    มะเขือพวงเป็นผักที่มีวิตามินซี ซึ่งวิตามินซีถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่มีส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงของภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระที่จะเข้ามาทำลายเซลล์ในร่างกายด้วย

    อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก

    ธาตุเหล็ก เป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่สามารถพบได้ใน ผลมะเขือพวง มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุเหล็กนี้ ไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารเสริม แต่สามารถได้จากอาหารทั่วไปที่รับประทานในชีวิตประจำวัน เช่น เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้

    ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง

    มะเขือพวงเป็นผักที่มากไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด ที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงของเซลล์ ต้านการอักเสบจากอนุมูลอิสระ ทั้งยังมีส่วนช่วยยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งเติบโตเร็วจนเกินไปอีกด้วย

    ข้อควรระวังในการรับประทาน มะเขือพวง

    โดยทั่วไปแล้วมะเขือพวงถือว่าเป็นพืชที่ปลอดภัย สามารถรับประทานได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่อันตราย อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระวังบางประการ ได้แก่

    • ผู้ที่มีอาการแพ้มะเขือพวง ซึ่งถึงแม้จะพบได้น้อยแต่ควรระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีมะเขือพวงเป็นส่วนประกอบ เพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ
    • ผลมะเขือพวง มีสารพิษตามธรรมชาติที่ชื่อไกลโคแอลคาลอยด์ (Glycoalkaloid) ซึ่งหากรับประทานเข้าไปมาก ๆ จะมีผลทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย หรือวิงเวียนศีรษะได้ จึงควรรับประทานมะเขือพวงแต่พอดี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 31/12/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา