backup og meta

ระบบทางเดินอาหาร ระบบสำคัญของร่างกายที่เราควรต้องรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 19/03/2021

    ระบบทางเดินอาหาร ระบบสำคัญของร่างกายที่เราควรต้องรู้

    ร่างกายของเรา ประกอบไปด้วยระบบต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายอยู่หลายระบบ ซึ่งแต่ละระบบก็จะมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกันคือการขับเคลื่อนร่างกายให้ดำเนินไปอย่างปกติ สมบูรณ์ และแข็งแรง วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับหนึ่งในระบบพื้นฐานและมีความสำคัญต่อร่างกายของเราอย่าง ระบบทางเดินอาหาร แต่ระบบนี้คืออะไร และทำหน้าที่สำคัญต่อร่างกายเราอย่างไรบ้างนั้น มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันที่บทความนี้กันเลยค่ะ

    ระบบทางเดินอาหาร คืออะไร

    ระบบทางเดินอาหาร (Digestive System) เป็นระบบที่ทำหน้าที่สำคัญในการย่อยอาหารที่เรากินเข้าไป และดูดซึมเอาสารอาหารจากอาหารมื้อนั้น ๆ ไปหล่อเลี้ยงระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีพลังงาน เจริญเติบโต และซ่อมแซมเซลล์ส่วนที่เกิดการสึกหรอ โดยการทำงานของระบบทางเดินอาหารนั้นจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ที่ปากและเรื่อยไปจนจบกระบวนการที่ทวารหนัก

    ความสำคัญของ ระบบทางเดินอาหาร

    ระบบทางเดินอาหารจะทำหน้าที่ในการแปรเปลี่ยน ดูดซึม และส่งต่อสารอาหารไปยังระบบหรือเซลล์ต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินซี วิตามินบี ธาตุเหล็ก แคลเซียม หรือโพแทสเซียม เป็นต้น ซึ่งสารอาหารที่ได้จากกระบวนการทำงานของระบบทางเดินอาหารนี้นี่เอง ที่ทำให้เรามีพลังงาน มีร่างกายที่แข็งแรง และมีสุขภาพดี 

    ระบบทางเดินอาหาร ทำงานอย่างไร

    การทำงานของระบบทางเดินอาหาร

    การทำงานของระบบทางเดินอาหาร จะมีลำดับและขั้นตอนที่ไล่เรียงกันไปจนกระทั่งถึงจุดสิ้นสุดของกระบวนการ ดังนี้

    ปาก

    ตั้งแต่วินาทีแรกที่อาหารถูกตักเข้าปาก และฟันเริ่มทำการบดหรือเคี้ยวอาหารคำนั้น นั่นถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการของระบบทางเดินอาหารแล้ว โดยการบดหรือเคี้ยวอาหารของฟันจะช่วยแยกอาหารออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่อให้ง่ายต่อการย่อยอาหารในลำดับต่อไป น้ำลายที่อยู่ในปากจะทำหน้าที่คลุกเคล้าอาหาร เพื่อให้อาหารง่ายต่อการถูกลำเลียงไปยังระบบทางเดินอาหารส่วนอื่น ๆ

    ลำคอ

    เมื่อเคี้ยวอาหารได้ที่แล้ว อาหารจะถูกส่งผ่านไปยังลำคอหรือส่วนที่เรียกกันว่าคอหอย และจากคอหอยอาหารจะค่อย ๆ ถูกลำเลียงเข้าสู่หลอดอาหาร

    หลอดอาหาร

    เมื่ออาหารเดินทางมาถึงหลอดอาหาร กล้ามเนื้อที่หลอดอาหารจะทำการคลายตัวเพื่อลำเลียงอาหารผ่านไปยังกระเพาะอาหาร ซึ่งกระบวนการนี้จะเรียกว่า เพอริสแตลซิส (Peristalsis) และกล้ามเนื้อหูรูดที่หลอดอาหารส่วนล่างก็จะทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้อาหารไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารเพื่อป้องกันอาการกรดไหลย้อน

    กระเพาะอาหาร

    ทันทีที่เดินทางสู่กระเพาะอาหาร กล้ามเนื้อของกระเพาะอาหาร น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร กรดและเอนไซม์ต่าง ๆ ที่อยู่ในกระเพาะอาหารก็จะทำการย่อยอาหารทั้งหมดเพื่อที่จะส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก

    ลำไส้เล็ก

    หลังจากอาหารถูกย่อยที่กระเพาะอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็จะถูกส่งต่อมายังลำไส้เล็ก ซึ่งมีขนาดยาวกว่า 22 ฟุต โดยกระบวนการย่อยอาหารที่ลำไส้เล็กนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยเริ่มตั้งแต่ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) มายังลำไส้เล็กส่วนกลาง (Jejunum) และเข้าสู่สำไส้เล็กส่วนปลาย (Ileum)

    ที่ลำไส้เล็กนี้จะทำการย่อยอาหารโดยใช้

    • เอนไซม์จากตับอ่อน ซึ่งจะหลั่งเข้าสู่ลำไส้เล็ก เพื่อทำการสลายโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต
    • ถุงน้ำดี จะทำหน้าที่รวบรวมเอาน้ำดีจากตับและส่งผ่านไปยังลำไส้เล็กเพื่อช่วยในการดูดซับและย่อยไขมัน
    • น้ำดีจากตับ จะเข้ามาทำความสะอาดและฟอกเลือดจากลำไส้เล็กที่เพิ่งดูดซึมสารอาหารมา 
    • กล้ามเนื้อหูรูด จะทำการลำเลียงอาหารผ่านการคลุกเคล้าด้วยเอนไซม์และน้ำดี 

    โดยลำไส้เล็กส่วนต้นจะทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร ส่วนลำไส้เล็กส่วนกลางและลำไส้เล็กส่วนปลายจะทำหน้าที่ในการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และเมื่ออาหารถูกย่อยและดูดซึมเอาสารอาหารไปหมดแล้ว ส่วนที่เหลือและไม่สามารถย่อยได้หมดที่บริเวณลำไส้เล็กก็จะเดินทางต่อไปยังลำไส้ใหญ่

    ลำไส้ใหญ่

    อาหารที่ไม่สามารถย่อยได้อีกต่อไปจากลำไส้เล็ก จะถูกส่งมายังลำไส้ใหญ่ และจะถูกเรียกว่ากากอาหาร ซึ่งเมื่อมาถึงลำไส้ใหญ่ในตอนแรก กากอาหารเหล่านี้จะมีลักษณะคล้ายกับเป็นของเหลว แต่ลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่ในการดูดซับน้ำออกจากกากอาหาร ทำให้กากอาหารกลายเป็นของแข็งหรือที่เราเรียกว่าอุจจาระ จนกระทั่งอุจจาระถูกสะสมเอาไว้ที่ลำไส้ใหญ่เป็นจำนวนมากแล้ว ก็จะค่อย ๆ ลำเลียงต่อไปยังทวารหนัก

    ทวารหนัก

    เมื่อกากอาหารจากลำไส้ใหญ่เดินทางมาถึงทวารหนักแล้ว ตัวรับสัญญาณที่ทวารหนักจะส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อทำการประเมินว่ากล้ามเนื้อหูรูดพร้อมที่จะปล่อยกากอาหารออกจากทวารหนักหรือไม่ ซึ่งเป็นสัญญาณเดียวกับที่เรารู้สึกปวดท้องและอยากเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายอุจจาระนั่นเอง แต่ถ้าหากยังไม่พร้อมที่จะขับถ่าย กล้ามเนื้อหูรูดก็จะหดตัวเพื่อกักเก็บกากอาหารเอาไว้ก่อน ช่วงเวลานี้ก็จะรู้สึกหายปวดท้องหรือหายปวดอึชั่วคราว

    นอกจากนี้ที่ทวารหนักก็ยังมีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้อุจจาระถูกลำเลียงออกมาในเวลาที่ไม่เหมาะสม หรือในเวลาที่ไม่ต้องการ เช่น เวลานอนหลับ แต่เมื่อรู้สึกปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำมาก ๆ จนไม่สามารถจะทนได้อีกต่อไป กล้ามเนื้อหูรูดและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานก็จะมีการคลายตัวเพื่อให้อุจจาระลำเลียงออกมาได้

    ทำอย่างไรให้ ระบบทางเดินอาหาร แข็งแรง

    จะเห็นได้ว่าระบบทางเดินอาหารนั้นเกี่ยวข้องกับระบบในร่างกายที่สำคัญอีกหลายต่อหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบลำเลียงสารอาหาร ระบบย่อยอาหาร หรือระบบขับถ่าย ซึ่งถ้าเราดูแลให้ระบบทางเดินอาหารแข็งแรงและสุขภาพดีอยู่เสมอ ก็จะมีผลให้ระบบอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่ร่วมกัน ได้รับผลข้างเคียงที่ดีนี้ตามไปด้วย ซึ่งเราสามารถดูแลสุขภาพของระบบทางเดินอาหารได้ง่าย ๆ ดังนี้

    • กินผักและผลไม้เป็นประจำ เพราะเป็นกลุ่มอาหารที่มีไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณสูง โดยเฉพาะไฟเบอร์ซึ่งมีส่วนกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร และช่วยป้องกันอาการท้องผูกด้วย
    • เลือกกินเนื้อสัตว์ปีกหรือเนื้อปลาให้บ่อยกว่าการรับประทานเนื้อแดง เนื่องจากเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์แปรรูปอาจทำให้ย่อยได้ลำบาก ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกด้วย
    • รับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกให้มาก เพราะโพรไบโอติกเป็นมิตรกับจุลินทรีย์และแบคทีเรียชนิดดีในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะบริเวณลำไส้ ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้จะทำหน้าที่สำคัญในการช่วยย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหาร และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ลำไส้ ทำให้สามารถลำเลียงอาหารได้สะดวก ป้องกันอาการท้องผูก
    • ระวังความเครียด เพราะความเครียดจะมีผลต่อกระบวนการย่อยอาหาร รวมถึงส่งผลต่ออาการลำไส้แปรปรวน (IBS) ด้วย
    • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะช่วยให้อาหารสามารถถูกย่อยได้ดีมากขึ้น ทำให้ระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารไม่ต้องทำงานหนัก
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะกระตุ้นระบบเผาผลาญและการย่อยอาหาร ทั้งยังช่วยลดอาการท้องผูกได้อีกด้วย
    • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะไปเพิ่มการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร เสี่ยงที่จะเกิดอาการกรดไหลย้อน เสียดท้อง หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำจะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารมีน้ำสำหรับหล่อลื่นเพื่อลำเลียงอาหารและสารอาหารได้ดีขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 19/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา