backup og meta

นิ่ว อาการ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 17/05/2022

    นิ่ว อาการ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน

    นิ่ว เกิดจากแร่ธาตุและสารอื่น ๆ เช่น แคลเซียม กรดยูลิก ออกซาเลต (Oxalate) ตกตระกอนรวมตัวกันเป็นก้อน อาจมีขนาดเล็กและหลุดออกไปเองได้ ไปจนถึงมีขนาดใหญ่จนอาจไปอุดตันอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้ นิ่วพบได้ในอวัยวะ เช่น ไต กระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีสีขุ่น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากทราบวิธีป้องกันที่เหมาะสม อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วได้ 

    นิ่วคืออะไร 

    นิ่ว คือ ก้อนที่เกิดจากการรวมตัวหรือการตกตะกอนของแร่ธาตุและสารต่าง ๆ เช่น แคลเซียม ฟอสเฟต ออกซาเลต กรดยูริก โดยประเภทของนิ่วอาจสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ 

    • นิ่วแคลเซียม เป็นประเภทที่พบได้บ่อย เกิดจากแคลเซียมรวมกับกรดออกซาลิกในปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับของเหลวหรือแคลเซียมไม่เพียงพอ 
    • นิ่วกรดยูริก เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) สูง เช่น เนื้อสัตว์ หอยบางชนิด มักเกิดขึ้นในผู้ที่สูญเสียของเหลวมากเกินไปจากอาการท้องร่วงเรื้อรัง
    • นิ่วสตรูไวท์ เกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และเป็นชนิดที่อันตราย เพราะก้อนนิ่วอาจขยายขนาดอย่างรวดเร็ว
    • นิ่วซีสทีน เป็นนิ่วประเภทหายาก เกิดจากไตหลั่งกรดอะมิโนที่เรียกว่าซีสทีนออกมาทางปัสสาวะมากเกินไป ส่วนใหญ่มักเกิดจากการสืบทอดผ่านทางพันธุกรรม 

    อาการของนิ่ว 

    นิ่ว อาจมีอาการดังนี้ 

    • หนาวสั่น มีไข้
    • คลื่นไส้ อาเจียน 
    • ปวดบริเวณท้องน้อย และขาหนีบ 
    • ปวดหรือแสบขณะปัสสาวะ 
    • ปัสสาวะขัด 
    • ปัสสาวะน้อย แต่อาจเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติ 
    • ปัสสาวะขุ่น มีสีเข้ม หรืออาจมีกลิ่นเหม็น 
    • ปัสสาวะมีเลือดปน 

    สาเหตุของนิ่ว 

    นิ่วอาจเกิดจากการมีสารก่อนิ่วในปัสสาวะ เช่น แคลเซียม ฟอสเฟต สูงกว่าระดับสารยับยั้งนิ่ว เช่น ซิเทรต แมกนีเซียม โพแทสเซียม ปกติแล้ว สารยับยั้งนิ่วจะไปแย่งจับกับสารก่อนิ่ว แต่เนื่องจากความผิดปกติอาจส่งผลทำให้เกิดการรวมตัวตกตระกอนเป็นก้อนแข็งและกลายเป็นนิ่ว 

    ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่ว อาจมีดังนี้ 

    • พันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นนิ่วอาจมีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วสูงขึ้น 
    • ดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือดื่มน้ำน้อย
    • มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากน้ำหนักมากหรือเป็นโรคอ้วนอาจส่งผลทำให้มีภาวะแคลเซียมและออกซาเลตในปัสสาวะสูง
    • รับประทานโปรตีน โซเดียม หรือน้ำตาลในปริมาณมาก 
    • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดกรด 
    • เคยเป็นนิ่วมาก่อน 

    วิธีป้องกันการเกิดนิ่ว

    นิ่วอาจป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการ ดังนี้ 

    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 แก้ว/วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และอาจช่วยลดความเข้มข้นของปัสสาวะ ทั้งนี้ หากอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน แห้ง หรือออกกำลังกายบ่อยอาจควรดื่มน้ำมากขึ้น
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดออกซาลิกสูง เช่น ช็อกโกแลต ผักโขม พริกไทยดำ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลือง และควรจำกัดโซเดียมไม่ให้เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วนอาจส่งผลเสี่ยงในการเป็นนิ่วได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 17/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา