backup og meta

ผื่นแพ้ฝุ่น มีอาการอย่างไร และรักษาอย่างไรได้บ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    ผื่นแพ้ฝุ่น มีอาการอย่างไร และรักษาอย่างไรได้บ้าง

    ผื่นแพ้ฝุ่น หรือที่เรียกว่า แพ้ฝุ่น เป็นอาการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติต่อฝุ่นละอองในอากาศหรือมูลของไรฝุ่น โดยทั่วไป ผื่นแพ้ฝุ่นมักก่อให้เกิดอาการคัดจมูก ไอ จาม คันจมูก ตาแดง ผื่นขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในลักษณะที่ไม่รุนแรงนัก แต่ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงซึ่งมักจะรบกวนดำเนินชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอ

    ผื่นแพ้ฝุ่น คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร

    ผื่นแพ้ฝุ่นคือ การที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อรา รวมถึงฝุ่นละอองในอากาศจนเป็นสาเหตุให้มีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ไอ จาม คัดจมูก มีผื่นขึ้น

    นอกจากนี้ ผื่นแพ้ฝุ่นยังหมายรวมถึงการแพ้ไรฝุ่นหรือแมลงขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในฝุ่นซึ่งเกาะตามฟูก เครื่องนอน หรือเสื้อผ้า โดยไรฝุ่นเหล่านี้จะกินผิวหนังที่ตายแล้วของมนุษย์และสัตว์เป็นอาหาร และถ่ายมูลไว้ในฝุ่น เมื่อสูดไรฝุ่นเข้าร่างกายจึงก่อให้เกิดอาการแพ้

    ทั้งนี้ แพ้ฝุ่นจัดเป็นหนึ่งในโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุดและอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคผิวหนังอาการกำเริบได้เช่นเดียวกับการแพ้อากาศ

    ผื่นแพ้ฝุ่นมีอาการอย่างไร

    เมื่อผู้ที่แพ้ฝุ่นสูดสารก่อภูมิแพ้อย่างฝุ่นละอองในอากาศหรือมูลของไรฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานอย่างผิดปกติจะตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้เสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค ด้วยการกระตุ้นให้มาสต์เซลล์ (Mast Cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งหลั่งสารฮิสทามีน เข้าสู่กระแสเลือดและเป็นเหตุให้มีผื่นขึ้นรวมทั้งก่อให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ตามมา ดังนี้

    • จาม
    • ตาแดง คันรอบดวงตา น้ำตาไหล
    • คัดจมูก
    • ไอ
    • น้ำมูกไหลลงลำคอ

    นอกจากนี้ ในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด จะพบอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย

    • หายใจไม่ออก
    • หายใจเสียงดัง
    • แน่นหน้าอก
    • นอนไม่หลับ เนื่องจากหายใจไม่ออก ไอ หรือหายใจมีเสียงหวีด

    ผื่นแพ้ฝุ่น รักษาอย่างไร

    คุณหมอจะสอบถามอาการของคนไข้และตรวจในโพรงจมูก เพื่อดูว่าเนื้อเยื่อในโพรงจมูกมีอาการบวมหรือสีซีดลงจากการแพ้วัตถุขนาดเล็กมาก ๆ อย่างฝุ่นหรือไรฝุ่นหรือไม่

    นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้คนไข้ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่่อหาสาเหตุของการแพ้ ด้วยการหยดสารก่อภูมิแพ้ลงบริเวณแขน เพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนองของผิวหนังภายใน 30 นาที เมื่อทราบแน่ชัดว่าคนไข้แพ้ฝุ่น คุณหมอจะรักษาอาการผื่นแพ้ฝุ่น ด้วยตัวยาดังต่อไปนี้

    • ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เซทิริซีน (Cetirizine) ลอราทาดีน (Loratadine) เป็นยาสำหรับรับประทาน ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการหลั่งฮิสตามีนในร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการแพ้ฝุ่น และผื่นแพ้ฝุ่น
    • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) มีทั้งชนิดพ่นจมูกและชนิดสำหรับรับประทาน โดยยาพ่นจมูกจะช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการต่าง ๆ จากการแพ้อากาศ ทั้งนี้ คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกมีส่วนผสมของตัวยาที่อ่อนกว่าชนิดรับประทาน จึงก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดรับประทาน
    • ยาหดหลอดเลือด (Decongestant) เป็นยารับประทานที่ใช้อย่างแพร่หลายเพื่อลดการบวมของเนื้อเยื่อในโพรงจมูก และช่วยให้หายใจคล่องขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจมีผลข้างเคียงทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคต้อหิน และโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังอาจเป็นสาเหตุให้อาการโรคต่อมลูกหมากโตแย่ลงด้วย

    นอกจากนี้ การแพ้ฝุ่นยังรักษาได้ด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) หรือการให้ผู้ป่วยบริโภคสารก่อภูมิแพ้ ฉีดเข้าสู่ร่างกาย หรือหยดลงใต้ลิ้น อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยคุ้นเคยกับสารดังกล่าวมากขึ้น และป้องกันระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองอย่างผิดปกติจนทำให้มีอาการแพ้

    ผื่นแพ้ฝุ่น ป้องกันอย่างไร

    ในเบื้องต้น วิธีป้องกันผื่นแพ้ฝุ่นที่ง่ายที่สุดคือลดการเผชิญหน้ากับฝุ่นหรือไรฝุ่นให้น้อยที่สุด โดยอาจปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น รวมถึงไม่เข้าไปในสถานที่ที่มีฝุ่นเยอะ
    • ปิดหน้าต่างที่อยู่อาศัยอยู่เสมอ เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้จากภายนอกกระจายเข้ามาในบ้าน หรือห้องที่อาศัยอยู่
    • ทำความสะอาดเครื่องนอนสม่ำเสมอ โดยการแช่เครื่องนอนในน้ำร้อนหรือน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15-30 นาที เพื่อกำจัดไรฝุ่นที่มักแฝงตัวอยู่
    • ทำความสะอาดห้องต่าง ๆ ภายในบ้านเพื่อกำจัดผิวหนังที่ตายแล้วของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงที่หลุดลอกและตกอยู่ตามพื้นหรือปลิวอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของบ้าน
    • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา