backup og meta

ผื่นคัน แพ้เหงื่อ อาการเป็นอย่างไร และรักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/05/2023

ผื่นคัน แพ้เหงื่อ อาการเป็นอย่างไร และรักษาได้อย่างไร

ผื่นคัน แพ้เหงื่อ อาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตเหงื่อออกมาในปริมาณมากเกินไป ทำให้มีผื่นแดง รู้สึกคัน ส่วนใหญ่พบในบริเวณใบหน้า แขน และหลัง หากสังเกตว่ามีอาการผื่นคันหลังจากมีเหงื่อออก ควรพบคุณหมอทันที เพื่อป้องกันอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

ผื่นคัน แพ้เหงื่อ คืออะไร

ผื่นคัน จากการแพ้เหงื่อ อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบที่แสดงออกมาในรูปแบบของผื่นคัน โดยเกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงจนขับเหงื่อออกมาเพื่อช่วยระบายความร้อน ซึ่งมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นทำให้ร่างกายขับเหงื่อ ดังนี้

  • อยู่ในสภาพอากาศร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้องซาวน่า อ่างน้ำร้อน
  • ตากแดดเป็นเวลานาน
  • ออกกำลังกายและเล่นกีฬา
  • รับประทานอาหารร้อน หรืออาหารที่มีรสเผ็ด
  • อาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น
  • สวมเสื้อผ้ารัดแน่น ไม่ระบายอากาศ อับชื้น
  • รู้สึกวิตกกังวล เครียด ประหม่า หรือโกรธ

นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับโรคผิวหนังอักเสบ กลาก หอบหืด และไข้ละอองฟาง อาจเพิ่มความเสี่ยงนำไปสู่การเกิดผื่นคันจากการแพ้เหงื่อได้มากขึ้น

อาการแพ้เหงื่อตัวเอง สังเกตจากอะไร

อาการแพ้เหงื่อตัวเอง อาจสังเกตได้จาก

  • อาการคัน แสบร้อนผิวหนัง
  • ผื่นแดงหรือตุ่มนูนขนาดเล็กขึ้นตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า หน้าอก แขน ขา และหลังส่วนบน
  • ผิวแห้ง
  • ผิวบวมนูนขึ้น หรือมีอาการแย่ลงหลังจากเหงื่อออกประมาณ 25 นาที

ควรพบคุณหมอทันทีหากมีอาการ ดังนี้

  • ผิวหนังหรือตุ่มนูน เป็นแผล และมีหนอง
  • หายใจถี่และหายใจเสียงดังมีเสียงหวีด
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือชีพจรอ่อนลง
  • ปวดศีรษะ มึนหัว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • เป็นลมหมดสติ

วิธีรักษาผื่นคันแพ้เหงื่อ

ผื่นแพ้เหงื่อ รักษา ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจแนะนำยาปฏิชีวนะในรูปแบบครีมทาบนผิวหนัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ที่อาจส่งผลให้ผิวหนังมีอาการอักเสบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่นคันรุนแรง เป็นแผลเปิด และมีเลือดออก
  • ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นยาที่ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง ต้านการอักเสบ ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น และลดความเสี่ยงต่ออาการผิวหนังบาง
  • ยาแก้แพ้ เช่น ไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine) ลอราทาดีน (Loratadine) เฟโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และเซทิริซีน (Cetirizine) อาจช่วยบรรเทาอาการแพ้เหงื่อที่ก่อให้เกิดผื่นคัน โดยการยับยั้งสารฮีสตามีน (Histamine) ที่ทำให้เกิดอาการแพ้
  • เพรดนิโซโลน (Prednisolone) คุณหมออาจให้รับประทานยาเพรดนิโซนเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ แต่อาจให้รับประทานในระยะสั้น เพื่อป้องกันผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เลือดออกง่าย การมองเห็นเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ควรแจ้งคุณหมอให้ทราบหากผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคหัวใจ โรคตา โรคเบาหวาน ปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โรคกระดูกพรุน และปัญหาเกี่ยวกับเลือด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
  • การทำแผลเปียก (Wet dressings) เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลสด เป็นหนอง และตุ่มใส โดยคุณหมอจะทำความสะอาดแผลด้วยแอลกอฮอล์และน้ำเกลือ จากนั้นจึงเช็ดแผลและโดยรอบด้วยยาฆ่าเชื้อ หากเป็นแผลเปิดขนาดใหญ่อาจใช้ผ้าก๊อซอุดไว้ และพันผ้าพันแผลปิดทับ
  • การบำบัดด้วยแสง คุณหมออาจฉายรังสีอัลตราไวโอเลตเพื่อรักษาบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม การบำบัดด้วยแสงอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผิวหนังเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้หากรักษาในระยะยาว นอกจากนี้ ไม่ควรใช้วิธีการรักษานี้ในเด็กเล็ก เพราะเด็กมีผิวหนังที่บอบบาง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวได้

การป้องกันผื่นคันจากการแพ้เหงื่อ

การป้องกันผื่นคันจากการแพ้เหงื่อ อาจทำได้ดังนี้

  • ไม่รับประทานอาหารที่ร้อนและมีรสเผ็ดมากจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน
  • จำกัดเวลาอาบน้ำ ไม่ควรอาบน้ำนานและบ่อยจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแห้ง ระคายเคือง และไม่ควรอาบน้ำร้อนจนเกินไป
  • เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่น
  • หากบ้านมีอุณหภูมิร้อน อาจเปิดพัดลมจ่อร่างกาย หรือนำผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย
  • จัดการกับอารมณ์เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกเครียด โมโห วิตกกังวล ตื่นเต้นและประหม่า
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อน และควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหลังออกกำลังกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/05/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา