backup og meta

ยาขับประจําเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ อันตรายหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    ยาขับประจําเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ อันตรายหรือไม่

    ยาสตรี ยาขับเลือด หรือ ยาขับประจําเดือน เป็นยาสมุนไพรแผนโบราณที่นิยมใช้เพื่อการบำรุงเลือด บรรเทาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือใช้บำรุงสำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอยู่ไฟ อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาเกี่ยวกับส่วนผสมและข้อควรระวังของยาขับประจำเดือนก่อนใช้ อีกทั้งยังควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเสมอก่อนใช้ยา 

    ยาขับประจําเดือน หรือยาสตรี มีส่วนผสมอะไร

    ส่วนใหญ่แล้ว ยาขับประจำเดือนหรือยาขับเลือดจะมีสมุนไพรหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่แล้วยาสตรีจะมีหลายตำรับ ใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น 

    1. การใช้ยาสตรีเพื่อบำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงโลหิต อาจกระตุ้นเลือดลมให้ไหลเวียนดี ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
    2. การใช้ยาสตรีเพื่อทดแทนการอยู่ไฟ จึงช่วยขับน้ำคาวปลาหลังคลอด ช่วยฟอกโลหิต อาจช่วยให้มดลูกของแม่หลังคลอดกลับมาสู่สภาพปกติ
    3. การใช้ยาสตรีเพื่อแก้ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ ให้รอบเดือนมาได้อย่างปกติเป็นประจำ อาจบรรเทาอาการตกขาว

    ส่วนประกอบสำคัญของยาสตรี 

    ยาสำหรับสตรีมักจะมีตัวยาสมุนไพรที่มีรสร้อนตามศาสตร์ของยาแผนไทย แต่ละตำรับยาก็แตกต่างกันไปตามสูตร โดยส่วนประกอบสำคัญของยาสตรี จะมีสมุนไพรที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ได้จากพืช ชื่อว่า ไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล โดยเฉพาะยาขับประจําเดือน ที่จะช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น ลอกออกมาเป็นประจำเดือน ทำให้รอบเดือนมาปกติ ตัวอย่างสมุนไพร เช่น  

    • กวาวเครือขาว
    • ว่านชักมดลูก
    • โกฏเชียง 
    • โกฏหัว 
    • บัว 
    • ตานเซียม 
    • กิ่งอบเชย 
    • บักดี้ 
    • ขิง 
    • ดีปลี 
    • พริกไทย 
    • น้ำมันสะระแหน่
    • ดอกคำฝอย
    • ชะเอม

    ข้อควรระวังยาขับประจําเดือน

    ยาบำรุงเลือดสำหรับสตรีหรือยาขับประจําเดือน มีทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำ ซึ่งในยาน้ำมักจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ช่วยสกัดเอาสารสำคัญออกมาจากพืชสมุนไพร หากรับประทาน ยาน้ำบำรุงเลือดสำหรับสตรี ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จะมีข้อควรระวัง ดังนี้

    • ไม่แนะนำให้กินยาสตรีหรือยาขับประจําเดือนติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลให้เกิดพิษที่ตับจากแอลกอฮอล์ได้
    • ไม่แนะนำให้กินยาสตรีหรือยาขับประจําเดือนขณะตั้งครรภ์ เพราะมีแอลกอฮอล์ และสมุนไพรบางชนิด เช่น รากเจตมูลเพลิงแดง ส่งผลต่อทารกในครรภ์ เสี่ยงต่อความพิการ อาจทำให้ทารกเจริญผิดรูปได้ ซึ่งสามารถอ่านได้จากฉลากยาที่ระบุว่า “สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน”
    • ไม่แนะนำให้กินยาสตรีหรือยาขับประจําเดือน ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ในแม่ที่ให้นมลูก เพราะแอลกอฮอล์ส่งผ่านน้ำนมสู่ทารกได้ 

    แม้ว่าการกินยาสตรีหรือ ยาขับประจําเดือน จะมีผลต่อทารกในครรภ์ แต่ไม่สามารถทำให้เกิดการแท้งได้ เพราะยาสตรี ยาขับเลือด หรือยาขับประจำเดือน ไม่ใช่ยาทำแท้งหรือยายุติการตั้งครรภ์ แต่อาจส่งผลต่อร่างกายของแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้

    สมุนไพรไทยช่วยขับโลหิต บรรเทาอาการปวดประจำเดือน

    สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ นอกจากยาสตรี ยาขับเลือด หรือยาขับประจําเดือน ยังมีตำรับยาไทยที่ช่วยบำรุงสุขภาพและบำรุงเลือด อีกทั้งบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ด้วย 

    ขณะที่มีประจำเดือน มักจะเกิดอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มีผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโลน ทำให้เกิดอาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจมีร่วมด้วย ได้แก่ ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกระดูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนหรือปวดศีรษะ เหงื่อออก ผิวหนังบวมแดง  เกิดสิว ฝ้า มีอารมณ์ฉุนเฉียว และหงุดหงิด ซึ่งการแพทย์แผนไทยจะเรียกว่า โรคโลหิตปกติโทษ และใช้ยาขับโลหิตรักษากลุ่มอาการดังกล่าว เช่น

    • ตำรับยาประสะไพล ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ส่วนประกอบในตำรับมีสมุนไพรฤทธิ์ร้อน เช่น เหง้าไพล ดีปลี ผิวมะกรูด พริกไทย กระเทียม จึงช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก และช่วยขับลม 
    • ยาหอมอินทจักร์ ใช้ละลายในน้ำอุ่นรับประทานระหว่างมีประจำเดือน บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียน ช่วยให้เกิดอารมณ์ผ่อนคลาย 
    • ยาบำรุงโลหิต ใช้เมื่อประจำเดือนหยุด เพื่อบำรุงโลหิตให้บริบูรณ์ ดีต่อสุขภาพและผิวพรรณ

    ตำรับยาจากการแพทย์แผนไทย จะช่วยให้ประจําเดือนมาปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยบำรุงร่างกายได้ดี เช่นเดียวกับยาสตรี อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ยาควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ทุกครั้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา