backup og meta

มดลูกหย่อน อันตราย ไหม ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/06/2023

    มดลูกหย่อน อันตราย ไหม ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    มดลูกหย่อน อันตราย ไหม ? จริง ๆ แล้ว ภาวะนี้จะอันตรายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับระดับของอาการหย่อนของมดลูก ในกรณีที่ไม่รุนแรงมาก ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากคุณหมอ และอาจดูแลตัวเองให้อาการดีขึ้นได้ด้วยการขมิบช่องคลอดเพื่อบริหารอุ้งเชิงกรานและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หากมีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก แต่ในกรณีที่มีอาการมดลูกหย่อนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ ปวดหน่วงท้อง ปวดหลังส่วนล่าง มีตกขาวปนเลือด ซึ่งมักเป็นสัญญาณของมดลูกหย่อนในระดับรุนแรง ควรไปพบคุณหมอและรับการรักษาเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดตามมา

    มดลูกหย่อน เกิดจากอะไร

    มดลูกหย่อน (Uterine prolapse) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและเอ็นยึด (กลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) ยืดตัวออกหรืออ่อนแรงลงจนกระทั่งไม่สามารถที่จะรองรับมดลูกได้อีกต่อไป ส่งผลให้มดลูกขยับตัวจากตำแหน่งปกติแล้วหย่อนหรือยื่นออกมาจากช่องคลอด

    สาเหตุของมดลูกหย่อน อาจมีดังนี้

    • การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในกรณีท้องแฝด หรือตั้งครรภ์หลายครั้ง
    • คลอดแบบธรรมชาติแต่ทารกตัวใหญ่หรือคลอดเร็วเกินไป หรือใช้เวลาเบ่งนานเกินไป
    • อาการไอรุนแรงจากโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) โรคหอบหืด (Asthma) ที่เพิ่มแรงดันในช่องท้อง
    • มีอาการท้องผูกบ่อยจนต้องออกแรงเบ่งเป็นประจำเพื่อขับถ่าย
    • กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงตามอายุที่มากขึ้น
    • ยกของหนักซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เป็นเวลานาน
    • มีระดับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Oestrogen) ต่ำหลังวัยหมดประจำเดือน ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวจนทำให้มดลูกหย่อน
    • มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งจะไปเพิ่มแรงดันต่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
    • เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน
    • มีเนื้องอกในมดลูก
    • มีก้อนเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน (พบได้ไม่บ่อย)

    มดลูกหย่อน อันตราย ไหม

    โดยทั่วไป ความรุนแรงของโรคมักขึ้นอยู่กับความอ่อนแอของเนื้อเยื่ออุ้งเชิงกรานที่พยุงมดลูกเอาไว้ เมื่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่สามารถพยุงมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งเดิมได้ จะส่งผลให้มดลูกหย่อน ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นหลายระดับ ได้แก่

    • มดลูกหย่อนลงไปที่ส่วนบนของช่องคลอด
    • มดลูกหย่อนลงไปที่ส่วนล่างของช่องคลอด
    • มดลูกหย่อนจนยื่นออกมาจากช่องคลอด
    • มดลูกหย่อนจนหลุดออกจากช่องคลอด

    สำหรับผู้ที่มีอาการมดลูกหย่อนชนิดที่ไม่รุนแรงมักไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และอาจดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแบบคีเกล (Kegel) การขมิบช่องคลอดแล้วเกร็งไว้ 10 วินาที ทำต่อเนื่อง 10 ครั้ง อย่างน้อย 4-5 เซต/วัน อาจช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานกระชับมากขึ้นได้

    ในบางกรณี มดลูกหย่อนอาจเกิดร่วมกับภาวะอวัยวะใกล้เคียงหย่อนหรือขยับออกจากตำแหน่งเดิม เช่น

    • กระเพาะปัสสาวะหย่อน เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันระหว่างกระเพาะปัสสาวะและส่วนบนของช่องคลอดไม่สามารถพยุงกระเพาะปัสสาวะไว้ได้หรือมดลูกหย่อนจนไปเบียดกระเพาะปัสสาวะให้เคลื่อนลงต่ำ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเข้าไปในช่องคลอด และอาจทำให้มีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ
    • ลำไส้เล็กหย่อน เกิดขึ้นเมื่อลำไส้เล็กกดทับมดลูกและดันผนังด้านบนของช่องคลอด ทำให้ลำไส้เล็กยื่นตัวเข้าไปในช่องคลอด อาจทำให้รู้สึกตึงและปวดหลังขณะยืน ซึ่งอาการอาจบรรเทาลงได้เมื่อนั่งเอนหลัง
    • ลำไส้ใหญ่หย่อน เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันระหว่างลำไส้ตรงและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานส่วนที่รองรับกระเพาะปัสสาวะ มดลูก และลำไส้อ่อนแอ ทำให้ไส้ตรงยื่นเข้าไปในช่องคลอดด้านหลัง อาจทำให้เกิดปัญหาในการถ่ายอุจจาระ

    หากสังเกตถึงอาการผิดปกติที่เกิดจากมดลูกหย่อน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป

    อาการมดลูกหย่อน

    อาการมดลูกหย่อน อาจมีดังนี้

    • หน่วงหรือหนักอึ้งบริเวณอุ้งเชิงกรานและอวัยวะเพศ
    • อึดอัด ไม่สบายภายในช่องคลอด
    • ปวดหลังส่วนล่าง
    • รู้สึกเหมือนมีก้อนหรือของเหลวไหลลงมาในช่องคลอด หรือเหมือนนั่งทับลูกบอลเล็ก ๆ อยู่
    • สัมผัสได้ถึงก้อนนูนหรือเนื้อหยุ่น ๆ เมื่อสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด
    • รู้สึกไม่สบาย ปวด หรือชาระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • มีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ เช่น รู้สึกว่ายังปัสสาวะไม่สุด รู้สึกว่าต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ มีปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย
    • ตกขาวมีเลือดปน

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการมดลูกหย่อน

    การดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงของมดลูกหย่อนได้

    • ป้องกันท้องผูก ด้วยการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ผัก พืชตระกูลถั่ว ผลไม้ รวมทั้งออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อให้ระบบร่างกายมีของเหลวที่เพียงพอในการทำงานตามปกติ ลดโอกาสที่ทำให้ต้องอยู่ในห้องน้ำเป็นเวลานานและลดความเสี่ยงมดลูกหย่อนได้
    • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการยกของที่หนักเกินไปเป็นประจำ หรือยกของในท่าทางที่เหมาะสม เช่น ก้มยกของด้วยการลงน้ำหนักไปที่ขาแล้วย่อตัวลงแทนการลงน้ำหนักที่ไปเอวหรือหลัง ให้หลังอยู่ในแนวตรงขณะยก ยกของที่ไม่หนักจนเกินไปในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและลดความเสี่ยงการเกิดมดลูกหย่อน
    • ควบคุมอาการไอเรื้อรัง การไออย่างรุนแรงหรือไอบ่อย ๆ เป็นประจำจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เมื่อมีอาการไอเรื้อรังหรือเป็นโรคหลอดลมอักเสบ เพื่อลดความถี่ของการไอควรรีบรักษา นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการรับควันบุหรี่มือสองจากคนใกล้ตัวที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคืองจนเกิดการอักเสบหรือทำให้อาการไอที่เป็นอยู่แย่ลง
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ควรลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีใยอาหารและลดปริมาณอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวานทุกวัน เป็นต้น อาจช่วยลดความดันภายในช่องท้องและลดความเสี่ยงของการเกิดมดลูกหย่อนได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา