backup og meta

ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพ อายุเท่าไหร่ มีสาเหตุมาจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพ อายุเท่าไหร่ มีสาเหตุมาจากอะไร

    ผู้ชายเสื่อมสมรรภาพ อายุเท่าไหร่ ? โดยปกติแล้ว ผู้ชายจะยังมีความต้องการทางเพศอยู่จนกระทั่งถึงอายุ 60-70 ปี อย่างไรก็ตาม ระดับความต้องการทางเพศนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น อายุ ความเครียด ไลฟ์สไตล์ โรคประจำตัว ทำให้ผู้ชายบางรายอาจเสื่อมสมรรถภาพเร็วหรือช้ากว่านั้น

    เสื่อมสมรรถภาพ หมายถึง อะไร

    ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพ หมายถึง การหมดความสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศทุกชนิด หมดอารมณ์หรือไม่มีความต้องการทางเพศเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งการที่องคชาตไม่แข็งตัว หรือใช้เวลานาน รวมทั้งการถึงจุดสุดยอดช้า หรือไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ ทั้งนี้ อาการเสื่อมสมรรถภาพเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่โดยปกติแล้ว มักเกิดขึ้นได้ในผู้ชายวัยทอง หรือในช่วงอายุระหว่าง 40 – 65 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ร่างกายเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบสืบพันธุ์ เนื่องจากอัณฑะเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติส่งผลให้ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน และเทสโทสเทอโรนค่อย ๆ ลดลง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งความต้องการทางเพศและความสามารถในการทำกิจกรรมทางเพศที่ลดลงด้วยเช่นกัน

    สัญญาณเตือนอาการเสื่อมสมรรถภาพ

    การเสื่อมสมรรภาพทางเพศ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากร่างกายเริ่มเสื่อมถอย อย่างไรก็ตาม หากต้องการทราบว่าตอนเองเสื่อมสมรรภาพทางเพศหรือไม่ อาจลองสังเกตสัญญาณต่อไปนี้

    • หมดความสนใจในกิจกรรทางเพศ รวมทั้งการช่วยตัวเอง
    • ไม่มีจินตนาการเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ หรือแทบจะไม่คิดถึงการมีเพศสัมพันธ์
    • ไม่มีความสุขที่ตัวเองหมดอารมณ์ทางเพศหรือไม่คิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ

    สาเหตุที่ทำให้ ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพ

    สาเหตุที่ทำให้ความต้องการทางเพศลดน้อยลงนั้นมีด้วยกันหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น แต่หากถามว่า ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพ อายุเท่าไหร่ คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ทั้งนี้ ระดับฮอร์โมนเพศลดลงก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้ ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพ ได้แก่

    ไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตประจำวัน

    ผู้ที่มีความเครียดสูง ออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกกำลังกายเลยย่อมส่งผลให้ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพเร็วขึ้น หากต้องการรักษาระดับความต้องการทางเพศ ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป งดการใช้เสพสารเสพติดหรือสูบบุหรี่ และพยายามออกกำลังกายเป็นประจำ

    ภาวะซึมเศร้า

    ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าย่อมส่งผลโดยตรงต่อสมรรถภาพทางเพศ เพราะอาการของภาวะซึมเศร้าจะทำให้หมดความสนใจต่อสิ่งรอบตัวและกิจกรรมที่เคยทำให้มีความสุข รวมทั้งความต้องการทางเพศ อย่างไรก็ตาม ควรรักษาภาวะซึมเศร้าให้อาการดีขึ้นก่อน อาการเสื่อมสมรรถภาพอาจดีขึ้นตามมาภายหลัง

    การรับประทานยาบางชนิด

    ในผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องรับประทานยาเป็นประจำ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อความต้องการทางเพศได้ เพราะตัวยาบางชนิดอาจไปลดระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเทอโรน ซึ่งส่งผลให้ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพได้ เช่น ยาต้านเบาหวาน รวมทั้งผู้ที่เคยผ่านการรักษามะเร็ง การฉายแสง การทำคีโม เป็นต้น อาจปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำหากยาหรือวิธีการรักษาส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศโดยตรง

    ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์

    สำหรับผู้ที่มีปัญหาชีวิตคู่ย่อมส่งผลต่อความต้องการทางเพศ ดังนั้น ควรพูดคุยกับคู่ของตนเองอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยเฉพาะหากโดนเพิกเฉย ความต้องการที่ไม่ตรงกัน ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ใจและนำไปสู่การเบื่อหน่ายในความสัมพันธ์ และทำให้ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพได้ในที่สุด

    ประสบการณ์เลวร้ายในอดีต

    ผู้ชายบางคนอาจเคยผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายในวัยเด็กและส่งผลกระทบต่อความรู้สึกทางเพศ ในบางรายอาจมีการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดในทางที่ผิดเพื่อแก้ปัญหา ทำให้ยิ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายและความต้องการทางเพศได้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือจิตแพทย์หรือนักเพศศึกษาอาจช่วยหาทางออกได้ตรงจุดมากขึ้น

    วิธีดูแลตนเองเพื่อรับมืออาการเสื่อมสมรรถภาพ

    เมื่อรู้สึกว่าตนเองเริ่มมีอาการเสื่อมสมรรถภาพ อันดับแรกที่ควรปฏิบัติคือการไปพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษา รวมทั้งตรวจร่างกาย เช็คระดับฮอร์โมนเพศ และพูดคุยเพื่อทดสอบถึงภาวะสุขภาพจิต ที่สำคัญคือการปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

    นอกจากนี้ ควรงดสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในบุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความต้องการทางเพศลดลง และอย่าลืมให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย เพราะจะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย จิตใจ และในที่สุดจะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศได้ในอีกทาง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา