backup og meta

ยาคุม 28 เม็ด กินอย่างไรให้ปลอดภัย ป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 18/03/2024

    ยาคุม 28 เม็ด กินอย่างไรให้ปลอดภัย ป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์

    การคุมกำเนิดมีอยู่หลายวิธี แต่หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยม คือ ยาคุมกำเนิด เหมาะสำหรับผู้มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ คู่สามีภรรยาที่มีคู่นอนเพียงคนเดียว เป็นการคุมกำเนิดแต่เพียงเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยยาคุมกำเนิดมีอยู่ 2 แบบ ยาคุม 28 เม็ด กินอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย

    ยาคุมกำเนิด คืออะไร

    ยาคุมกำเนิด เป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ หากกินอย่างถูกวิธี ลักษณะของยาคุมกำเนิด แบ่งได้ดังนี้ 

    • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ตัวยาจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นยาคุมกำเนิดทั่วไปที่เภสัชกรและแพทย์แนะนำ ซึ่งลดโอกาสการตั้งครรภ์ให้เหลือเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น 
    • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน แบบเดี่ยว ยาคุมชนิดนี้สำหรับแม่ให้นมลูก
    • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน ใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉิน เมื่อมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน หรือการคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ผิดพลาด 

    ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจะยับยั้งการตกไข่ ทำให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ อาจลดการสร้างเมือกและเพิ่มความหนืดของเมือกปากมดลูกด้วย ช่วยให้ตัวอสุจิไม่อาจเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ อีกทั้งเพิ่มการบีบตัวของท่อนำไข่และบีบตัวของมดลูก จึงทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว มาถึงโพรงมดลูกในเวลาที่ไม่เหมาะสมในการฝังตัว รวมถึงส่งผลให้เยื่อบุมดลูกไม่พร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน

    ประเภทของ ยาคุมกำเนิด

    ยาคุมกำเนิด ปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่

    1. ยาคุม 21 เม็ด ประกอบด้วยฮอร์โมนทั้ง 21 เม็ด เมื่อกินยาหมดแผงแล้ว ให้นับต่อไปอีก 7 วัน แล้วจึงเริ่มกินแผงใหม่ หลังจากหยุดยา 1-3 วันจะเริ่มมีประจำเดือน
    2. ยาคุม 28 เม็ด ประกอบด้วยเม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ด เม็ดแป้งหรือวิตามินอีก 7 เม็ด เมื่อหมดแผงยาคุม 28 เม็ด ให้เริ่มกินแผงใหม่ต่อได้ในทันที ยาคุม 28 เม็ด จึงเหมาะสำหรับคนที่กลัวว่าจะลืมกินยาคุมกำเนิด สังเกตได้ว่าเม็ดแป้งจะมีสีและขนาดเม็ดที่แตกต่าง โดยช่วงที่รับประทานเม็ดแป้ง 1-3 เม็ด ประจำเดือนจะเริ่มมา

    ยาคุมกำเนิดทั้งยาคุม 21 เม็ด และยาคุม 28 เม็ด ต้องเริ่มกินภายในวันที่ 1 – 5 ของการเริ่มมีประจำเดือน โดยนับวันที่มีประจำเดือนวันแรกเป็นวันที่ 1 และให้กินยาคุมกำเนิด ติดต่อกันตามลูกศรกำหนดบนแผง และควรกินยาคุมกำเนิดให้ตรงเวลาทุกวัน หลังจากเริ่มกินแล้วให้กินอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลาเดิมหรือเวลาใกล้เคียง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการคุมกำเนิด

    ผลข้างเคียงของ ยาคุม 28 เม็ด

    • คลื่นไส้ 
    • อาเจียน 
    • น้ำหนักตัวเพิ่ม 
    • บวมน้ำ 
    • ผื่นขึ้น

    ลืมทานยาคุมกำเนิดต้องทำอย่างไร

    หากเป็นยาคุม 28 วัน และเป็นเม็ดแป้ง ให้ทิ้งเม็ดที่ลืมแล้วรับประทานเม็ดถัดไปในเวลาเดิม แต่หากเป็นตัวยาฮอร์โมน ให้ดูรายละเอียด ดังนี้

    หากลืมกิน 1 เม็ด

    ลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม 1 เม็ด นึกได้ในช่วงเลย 24 ชั่วโมงแต่ยังไม่ถึง 48 ชั่วโมง นับจากเวลาปกติที่รับประทานยาคุมในทุกวัน 

    1. กินยาคุมทันที
    2. จากนั้นกินยาเม็ดถัดไปตามเวลาปกติ ซึ่งจะเป็นการกินยา 2 เม็ดในวันเดียวกัน 
    3. อาจไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น

    หากลืมกิน 2 เม็ด

    ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกัน 2 เม็ด เกิน 48 ชั่วโมง นับจากเวลาปกติที่รับประทานยาคุมในทุกวัน 

    1. กินยาเม็ดที่ลืมล่าสุดทันที แต่ให้ทิ้งยาเม็ดอื่นที่ลืมก่อนหน้านั้น
    2. จากนั้นกินยาเม็ดถัดไปตามเวลาปกติ ซึ่งจะเป็นการกินยา 2 เม็ดในวันเดียวกัน 
    3. ใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะกินยาเม็ดที่มีฮอร์โมนติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน 

    รับประทานยาคุมกำเนิดเกิน 1 เม็ดต่อวัน อันตรายหรือไม่

    หากเป็นยาคุม 28 เม็ด ที่มีเม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ด อาจทำให้การกินยาคุมกำเนิดคลาดเคลื่อนได้ โดยประสิทธิภาพการคุมกำเนิดยังได้ผล แต่อาจเพิ่มผลข้างเคียงต่อร่างกายและอาจอาจส่งผลให้รอบประจำเดือนเลื่อน อย่างไรก็ตาม สามารถรับประทานยาคุม 28 เม็ด จนหมดแผง แล้วเริ่มแผงใหม่ได้ 

    ข้อควรระวังในการใช้ยาคุมกำเนิด

    ยาคุมกำเนิดโดยทั่วไปสามารถรับประทานเพื่อคุมกำเนิดได้ ยกเว้นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น

  • มีโรคลิ่มเลือดอุดตันที่ขา ปอด หรือสมอง
  • โรคหัวใจ 
  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ดี  
  • โรคมะเร็งเยื่อบุมดลูกหรือมีเลือดระดูผิดปกติที่ยังไม่รู้สาเหตุ 
  • โรคมะเร็งเต้านมหรือ มีก้อนผิดปกติที่เต้านมที่ยังไม่รู้สาเหตุ
  • ผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
  • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อายุมาก สูบบุหรี่ และอ้วน 
  • ผู้ที่มีการทำงานของตับที่ผิดปกติ 
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์
  • การรับประทานยาคุมกำเนิด ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ เพื่อวางแผนการกินยาคุมกำเนิดให้เหมาะสมและปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 18/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา