backup og meta

การติดตามอาการโรคไมเกรน อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้คุณควบคุมโรคนี้ได้ดีขึ้น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 07/12/2020

    การติดตามอาการโรคไมเกรน อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้คุณควบคุมโรคนี้ได้ดีขึ้น

    อาการปวดศีรษะไมเกรน (Migraine) เป็นการปวดศีรษะอีกหนึ่งประเภทที่รุนแรงและสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างมาก เมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรน ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำให้คุณเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม ร่วมกับดูแลตัวเองในเบื้องต้น และปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่าง แต่นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว Hello คุณหมอ ก็อยากแนะนำให้คุณจดบันทึกที่เรียกว่า “การติดตามอาการโรคไมเกรน” ไว้ด้วย ว่าแต่การติดตามอาการโรคไมเกรนสำคัญอย่างไร และเราควรจดบันทึกอะไรบ้าง เราไปหาคำตอบกันเลย

    การติดตามอาการโรคไมเกรน สำคัญอย่างไร

    การติดตามอาการโรคไมเกรน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคไมเกรนที่เกิดขึ้น ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับคุณที่สุด ทั้งยังช่วยให้ตัวคุณเองรู้เท่าทันอาการของโรค และสามารถปรับตัว หรือปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อรับมือกับโรคให้ดีขึ้นได้ด้วย

    แม้อาการของโรคไมเกรนมักจะมาแบบเป็น ๆ หาย ๆ ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำให้คุณบันทึกหรือติดตามอาการของโรคไว้ตลอด โดยผู้ป่วยโรคไมเกรนแต่ละรายอาจต้องบันทึกการติดตามอาการของโรคติดต่อกันทุกวันยาวเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือตลอดการรักษา ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรงของโรค

    การติดตามอาการโรคไมเกรน ควรบันทึกเรื่องใดบ้าง

    สิ่งที่คุณควรจดบันทึกไว้เวลาติดตามอาการโรคไมเกรนอาจขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจะให้คุณจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

    อาการที่เกิดขึ้น ระดับความรุนแรงของอาการ และความถี่ในการเกิดอาการ

    ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณบันทึกอาการ และแบ่งระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นออกเป็น 4 ระดับ ตั้งแต่ 0-3 โดยวัดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้

    สำหรับคนที่ปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง อาจมีวันที่อาการไม่กำเริบเลยไม่บ่อยนัก ฉะนั้น หากมีวันไหนที่คุณไม่รู้สึกปวดศีรษะไมเกรนเลย ก็ต้องบันทึกไว้ด้วย ห้ามลืมเด็ดขาด

  • ระดับ 1 : อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบในระดับเบา
  • คุณอาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรน และอาการอื่น ๆ ในระดับเบา แต่อวัยวะต่าง ๆ ยังสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ อาการไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และมักไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน หรือการรักษาเมื่อมีอาการ (Acute Treatment) เช่น การใช้ยา แต่อย่างใด

    • ระดับ 2 : อาการปวดศีรษะไมเกรนในระดับปานกลาง

    อาการของโรคไมเกรนส่งผลให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายช้าลง และมักจำเป็นต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน หรือการรักษาเมื่อมีอาการ (Acute Treatment) เช่น การใช้ยา

    • ระดับ 3 : อาการปวดศีรษะไมเกรนในระดับรุนแรง

    อาการกำเริบอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก และอาจทำให้คุณถึงกับต้องนอนพัก ไม่สามารถลุกไปประกอบกิจกรรมใด ๆ ได้ ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเกิดอาการในระดับนี้ วิธีการรักษาเมื่อมีอาการ (Acute Treatment) มักจะไม่ได้ผล

    สถานการณ์ที่กระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบ

    คุณต้องคอยสังเกตด้วยว่า สถานการณ์ใดที่กระตุ้นให้อาการของโรคไมเกรนคุณกำเริบ บางคนอาจอาการกำเริบเวลาสภาพอากาศเปลี่ยน เวลามีกลิ่นแปลก ๆ เวลาแสงมืดลง เวลาเจอแสงจ้า เวลามีเสียงเจี๊ยวจ๊าว เป็นต้น

    อาหารที่เป็นสิ่งเร้าไมเกรน

    คุณรู้ไหมว่า อาหารที่คุณบริโภคในแต่ละวันก็สามารถส่งผลต่อโรคปวดศีรษะไมเกรนของคุณได้ คุณจึงจำเป็นต้องบันทึกอาหารที่กินในแต่ละวัน และอาการที่เกิดขึ้นหลังกินอาหารแต่ละชนิดไว้ด้วย อาหารที่มีส่วนกระตุ้นอาการของโรคไมเกรน เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา ไวน์แดง ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์แปรรูป ส่วนอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วฝัก ปลาไขมันสูง ธัญพืชไม่ขัดสี แต่อาหารที่เป็นสิ่งเร้าไมเกรนและอาหารที่ช่วยบำบัดไมเกรนของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันออกไปได้ คุณจึงควรบันทึกรายการอาหารของตัวเองไว้จะดีที่สุด

    ยาที่ใช้

    การบันทึกยาที่ใช้ ทั้งชนิดของยา ปริมาณยา เวลาในการใช้ยา และอาการที่เกิดขึ้นหลังใช้ยา เป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณควรบันทึกไว้ในการติดตามอาการโรคไมเกรนของคุณ เพราะการบันทึกเกี่ยวกับยาที่ใช้จะช่วยให้แพทย์ทราบได้ว่ายาชนิดไหนที่ส่งผลดีต่อการควบคุมโรคของคุณ ทั้งยังช่วยให้แพทย์สามารถปรับยาให้เหมาะสมกับคุณได้ หากจำเป็น

    วงจรการนอนหลับ และรอบเดือน

    โรคปวดศีรษะไมเกรนมักส่งผลกระทบต่อวงจรการนอนหลับของผู้ป่วย และหากเป็นผู้หญิงก็อาจส่งผลต่อรอบการมีประจำเดือนได้ด้วย ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรบันทึกวงจรการนอนหลับในทุก ๆ วัน หรือทุกสัปดาห์ และรอบเดือนในแต่ละเดือนเอาไว้ด้วย ช่วงเวลาในการนอนหลับที่เหมาะสมนั้นอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายสามารถควบคุมอาการของโรคไมเกรนได้ดีขึ้นเมื่อนอนหลับตามกำหนดเวลาเดิมทุกวัน และนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

    อยากติดตามอาการโรคไมเกรน ควรเริ่มต้นยังไงดี

    สำหรับผู้ป่วยโรคไมเกรนที่อยากเริ่มบันทึกการติดตามอาการโรคไมเกรน คุณสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้จากในอินเตอร์เน็ต ทำตารางจดบันทึกการติดตามอาการโรคไมเกรนเองในสมุด หรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำหรับติดตามอาการโรคไมเกรนมาใช้ในโทรศัพท์มือถือของคุณก็ได้ ข้อดีของการใช้แอปพลิเคชันก็คือ ใช้งานสะดวก สามารถบันทึกข้อมูลได้ตลอดเวลา แถมคุณยังสามารถถ่ายโอนข้อมูลให้แพทย์ได้ง่ายด้วย

    3 แอปแนะนำสำหรับคนอยากบันทึกอาการไมเกรน

    สำหรับคนที่อยากบันทึกการติดตามอาการโรคไมเกรนในแอปพลิเคชัน เราก็มีแอปพลิเคชันที่น่าสนใจมาแนะนำ ดังนี้

    การติดตามอาการโรคไมเกรนMigraine Buddy

    ระบบ : iOS, Android

    ราคา : ฟรี

    แอปพลิเคชันบันทึกอาการโรคไมเกรนที่ถูกพัฒนาโดยได้รับความร่วมมือจากนักประสาทวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ในแอปพลิเคชันนี้คุณสามารถบันทึกสิ่งที่ส่งผลต่อการเกิดอาการไมเกรนกำเริบได้ครบทุกด้าน ทั้งอาการ ความถี่ในการเกิดอาการ สิ่งกระตุ้นอาการ ช่วงเวลาที่เกิดอาการ ระดับความรุนแรงของอาการ บริเวณที่เกิดอาการ และปัจจัยในการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อโรคไมเกรน

    การติดตามอาการโรคไมเกรนHeadache Log

    ระบบ : Android

    ราคา : ฟรี (แต่มีค่าบริการภายในแอปพลิเคชัน)

    แอปพลิเคชันติดตามอาการ โรคไมเกรน แสนเรียบง่าย ใช้งานสะดวก ไม่ยุ่งยาก ที่ช่วยให้คุณบันทึกอาการของโรคไมเกรนได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

    การติดตามอาการโรคไมเกรนN1-Headache

    ระบบ : iOS

    ราคา : ฟรี (แต่มีค่าบริการภายในแอปพลิเคชัน)

    แอปพลิเคชันที่ได้ชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เพราะสามารถช่วยให้คุณบันทึกการติดตามอาการ โรคไมเกรน ได้อย่างเจาะลึก นอกจากจะบันทึกอาการของโรคและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดอาการได้เหมือนแอปพลิเคชันอื่น ๆ แล้ว ในแอปพลิเคชันนี้คุณยังสามารถค้นหาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับคุณที่สุด วิธีในการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการไมเกรน รวมถึงอวัยวะที่เป็นต้นกำเนิดโรคไมเกรนของคุณได้ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 07/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา