backup og meta

แพนิคคือ อะไร อาการเป็นแบบไหน รักษายังไง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/06/2023

    แพนิคคือ อะไร อาการเป็นแบบไหน รักษายังไง

    แพนิคคือ ความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงที่ทำให้เกิดอาการทางร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เหงื่อออก อ่อนแรง ตัวสั่น หลายคนอาจมีอาการแพนิคเกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตหลังผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดรุนแรง แต่หากมีอาการแพนิคเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณของโรคแพนิคที่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ทั้งนี้ หากป่วยเป็นโรคแพนิคควรเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อช่วยวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

    แพนิคคือ อะไร

    โรคแพนิค (Panic disorder) หรือโรคตื่นตระหนก จัดเป็นโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) ประเภทหนึ่ง มักเริ่มขึ้นในวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคตื่นตระหนกมากกว่าผู้ชาย อาการคือ รู้สึกตื่นตระหนกอย่างฉับพลันซ้ำ ๆ จากความกลัวและความวิตกกังวลในใจ รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีความกลัวหรือหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำให้รู้สึกสะเทือนขวัญ หรืออาจมีอาการผิดปกติทางร่างกายหรืออาการแพนิคแอทแทค (Panic attack) เช่น หัวใจเต้นแรง คิดไม่ออก หายใจไม่ออก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อแม้ว่าจะไม่มีอันตรายหรือสิ่งกระตุ้นที่ชัดเจนก็ตาม

    โรคแพนิค เกิดจากอะไร

    ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าโรคแพนิคมีสาเหตุมาจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากสมองและระบบประสาทที่มีบทบาทสำคัญในการส่งสัญญาณให้ร่างกายรับมือความกลัวและความวิตกกังวลทำงานผิดไปจากปกติ ส่งผลให้มีการส่งสัญญาณเตือนที่ผิดพลาดและกระตุ้นให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรงและบ่อยกว่าที่ควรจะเป็น

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคแพนิคอาจมีดังนี้

    • ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีสมาชิกใกล้ชิดในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง มีประวัติเป็นโรควิตกกังวลมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแพนิคและอาการแพนิคแอทแทคมากกว่าคนทั่วไป
    • ภาวะสุขภาพจิต ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล มีความเสี่ยงในการเกิดโรคแพนิคและอาการแพนิคแอทแทคมากกว่าปกติ
    • ประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก เช่น การถูกบูลลี่ การถูกลวนลามทางเพศ การถูกทารุณกรรม การถูกละเลย อาจทำให้เด็กเติบโตมาพร้อมความเสี่ยงในการมีปัญหาทางจิตรวมไปถึงเป็นโรคแพนิคและมีอาการแพนิคแอทแทคได้

    โรคแพนิคและอาการแพนิคแอทแทคต่างกันอย่างไร

    โรคแพนิคและอาการแพนิคแอทแทคมีความแตกต่างกัน โรค แพนิคคือ โรคที่ทำให้เกิดอาการแพนิคแอทแทคซ้ำ ๆ ร่วมกับผู้ป่วยมีความรู้สึกหวาดกลัวที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งยังหวาดกลัวที่จะมีอาการแพนิคแอทแทคในอนาคตอีกด้วย จึงมักจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือผู้คนที่ทำให้มีอาการตั้งแต่แรก ในขณะที่อาการแพนิคแอทแทคเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปโดยผู้ที่มีอาการแพนิคแอทแทคอาจไม่ได้เป็นโรคแพนิค แต่มีอาการเนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ ที่มากระทบจิตใจนอกเหนือไปจากโรคแพนิค เช่น

    • โรคกลัวสังคม
    • โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) เช่น กลัวที่จะอยู่ในกลุ่มคนเยอะ ๆ กลัวที่จะขึ้นไปบนเครื่องบินที่ไม่สามารถหนีไปยังที่อื่นได้
    • ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic stress disorder หรือ PTSD)
    • โรควิตกกังวลอื่น ๆ

    นอกจากนี้ อาการแพนิคแอทแทคยังอาจเกิดได้จากภาวะสุขภาพบางประการ เช่น

    • ปัญหาต่อมไทรอยด์
    • โรคหอบหืดหรือปัญหาการหายใจอื่น ๆ
    • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ (Abnormal rhythms) โรคลิ้นหัวใจไมทรัลโป่งพอง (Mitral valve prolapse หรือ MVP)
    • ปัญหาทางระบบประสาท เช่น อาการชัก
    • การใช้สารกระตุ้น สารเสพติด

    แพนิค อาการ เป็นแบบไหน

    อาการของโรคแพนิค

    • วิตกกังวล (Anxiety) เมื่อเป็นแล้วมักรู้สึกไม่สบายใจตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง รวมไปถึงหวาดกลัวและวิตกกังวลอย่างมาก และอาจหลีกเลี่ยงสถานการณ์ สถานที่ หรือผู้คนที่คิดว่าอาจกระตุ้นให้มีอาการแพนิคเกิดขึ้น บางครั้งความกังวลที่มากจนเกินไปหรือผู้ที่ใช้ชีวิตด้วยความกลัวก็อาจทำให้เกิดอาการแพนิคแอทแทคได้บ่อยกว่าปกติ
    • แพนิคแอทแทค เป็นอาการหนึ่งของโรคแพนิค อาจทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดปกติอย่างรุนแรง และมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีเหตุผลหรือมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า

    อาการของแพนิคแอทแทค

    อาการแพนิคแอทแทคมีลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมกันอย่างน้อย 4 ข้อ เป็นเวลาประมาณ 5-20 นาที/ครั้ง โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งต่อวัน หรือน้อยครั้งมากเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี

    • หัวใจเต้นแรง
    • วิงเวียนศีรษะ
    • เจ็บหน้าอก
    • ปวดท้องหรือคลื่นไส้
    • เหงื่อออก
    • ตัวสั่น
    • ขนลุก
    • หายใจไม่สะดวก
    • อ่อนแรง
    • ร้อนวูบวาบ
    • สำลัก
    • มือและแขนชาหรือรู้สึกเหมือนเข็มทิ่ม
    • กลัวตาย
    • รู้สึกว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับตัวเอง

    แพนิครักษายังไง

    โดยทั่วไป การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การลดความถี่ของการเกิดอาการแพนิคแอทแทคและบรรเทาอาการให้เบาบางลง โดยคุณหมอจะวางแผนการรักษาตามอาการของแต่ละคนดังนี้

    การบำบัดด้วยการพูดคุย เป็นวิธีรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับรู้ได้ถึงปัญหาของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม การบำบัดด้วยการพูดคุยสำหรับผู้ป่วยแพนิคอาจแบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่

    • การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม เป็นการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถระบุถึงสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติที่มีต่อสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพนิค ลดความถี่ของการเกิดอาการให้น้อยลงเรื่อย ๆ และหายได้ในที่สุด
    • การบำบัดด้วยความกลัว เป็นวิธีที่ให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเองทีละน้อย และค่อย ๆ เพิ่มความถี่หรือความใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อสิ่งกระตุ้นและแสดงให้เห็นว่าบุคคลหรือสถานการณ์ที่กระทบต่อจิตใจไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่เป็นกังวล นอกจากนี้ยังอาจเรียนรู้วิธีที่ทำให้จิตใจสงบ เช่น การฝึกวิธีหายใจ ควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

    การรักษาด้วยการใช้ยา

    ยาที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคแพนิคและอาการแพนิคแอทแทคได้ อาจมีดังนี้

    • ยาแก้ซึมเศร้า เช่น กลุ่มยาที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเก็บกลับเซโรโทนิน (SSRIs) กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทหลายชนิด (SNRIs) อาจเป็นยาที่คุณหมอสั่งให้เพื่อลดความถี่และความรุนแรงของอาการแพนิค
    • ยาคลายกังวลหรือยาคลายเครียด เช่น เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) อัลปราโซแลม (Alprazolam) ลอราซีแพม (Lorazepam) เป็นยาที่คุณหมอสั่งเพื่อรักษาหรือป้องกันการเกิดอาการแพนิค ทั้งนี้ยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เสพติดได้ จึงควรใช้อย่างระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา