backup og meta

ปวดหัวท้ายทอย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 18/09/2023

    ปวดหัวท้ายทอย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

    ปวดหัวท้ายทอย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การนั่งหรือยืนตัวงอ รวมถึงการรั่วของน้ำไขสันหลัง โดยส่วนใหญ่ สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด หรือการดูแลตัวเองเบื้องต้น เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ  แต่หากอาการปวดไม่หายไปหรือรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทบชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

    ปวดหัวท้ายทอย เกิดจากอะไร

    การปวดบริเวณท้ายทอย เกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    บุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม

    การยืนหรือนั่งตัวงออาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณท้ายทอย ขากรรไกร คอ หรือหลังส่วนบนมีอาการตึง และยังเพิ่มแรงกดให้กับเส้นประสาทบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวท้ายทอยตามมาได้

    อย่างไรก็ตาม การปวดหัวท้ายทอยจากบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ปรับท่าทางการยืน เดิน หรือนั่ง หรือเข้ารับการกายภาพบำบัด

    ภาวะความดันน้ำไขสันหลังต่ำ

    ภาวะความดันน้ำไขสันหลังต่ำ (Spontaneous Intracranial Hypotension) เป็นการรั่วของน้ำไขสันหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเป็นผลจากอุบัติเหตุ ส่งผลให้น้ำไขสันหลังในสมองลดลง และเกิดอาการปวดหัวบริเวณคอหรือท้ายทอยตามมา โดยอาการปวดนี้จะรุนแรงเมื่อนั่งหรือยืน

    ปกติแล้ว ภาวะความดันน้ำไขสันหลังต่ำสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการนอนพักเป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ร่วมกับการดื่มน้ำและการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่เหมาะสม

    นอกจากนี้ การฉีดเลือดของผู้ป่วยเข้าไปยังกระดูกสันหลัง ยังช่วยอุดบริเวณที่น้ำไขสันหลังรั่วออกมาได้

    การปวดเส้นประสาทต้นคอ

    การปวดเส้นประสาทต้นคอ (Occipital Neuralgia) เป็นสาเหตุของอาการปวดหัวท้ายทอยที่พบได้ไม่บ่อย มักพบในผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน และมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น การอักเสบของหลอดเลือด โรคเบาหวาน การติดเชื้อ การบาดเจ็บบริเวณหลังศีรษะ ซึ่งส่งผลให้เส้นประสาทบริเวณท้ายทอยที่ทอดยาวไปถึงหัวมีอาการอักเสบหรือระคายเคือง

    ทั้งนี้ อาการปวดเส้นประสาทต้นคอ มักทำให้รู้สึกปวดเสมือนไฟดูดเป็นจังหวะ ซึ่งเริ่มจากท้ายทอยหรือต้นคอเรื่อยไปจนถึงบริเวณหัว นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดกระบอกตาและตาแพ้แสงร่วมด้วย

    สำหรับวิธีรักษาการปวดเส้นประสาทต้นคอทำได้โดยการรับประทานยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ ร่วมกับการนวด การประคบร้อน และการพักผ่อนให้เพียงพอ

    นอกจากนั้น ในกรณีอาการรุนแรง คุณหมออาจจ่ายยาต้านเศร้าให้หรือฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid) ในบริเวณที่มีอาการปวด

    การปวดหัวรูปแบบต่าง ๆ

    ปวดหัวท้ายทอย เป็นอาการร่วมของการปวดหัวรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • ปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headaches) พบได้บ่อยที่สุด มีสาเหตุมาจากความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ หรือหิวโหย ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและลำคอตึง จนทำให้มีอาการปวดหัวตามมา
    • ปวดหัวจากการออกกำลังกาย (Exercise Headaches) มักเกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายหรือมีเพศสัมพันธ์หรือหลังจากนั้น โดยมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของหลอดเลือดเพื่อทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะหรือคออย่างเพียงพอ
    • ปวดหัวจากความผิดปกติของคอ (Cervicogenic Headache) โดยเป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อและโครงสร้างของกระดูกสันหลังส่วนคอ เช่น เนื้องอก การติดเชื้อ กระดูกหัก โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

    โดยทั่วไป อาการปวดท้ายทอยรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดอย่างไอบูโรเฟน (Ibuprofen) หรือแอสไพริน (Aspirin) รวมถึงยาคลายกล้ามเนื้อ

    ส่วนในกรณีที่ปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัวและปวดหัวจากความผิดปกติของคอ คุณหมออาจจ่ายยาต้านเศร้าให้

    ปวดหัวท้ายทอย เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    หากปวดหัวท้ายทอย ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม โดยเฉพาะเมื่อมีอาการดังนี้

    • ปวดหัวเป็นเวลานานเกิน 2-3 วัน
    • ปวดหัวในระดับที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต
    • ปวดหัวร่วมกับมีอาการปวดขมับ
    • ปวดหัวในลักษณะที่ต่างไปจากเดิม

    นอกจากนี้ ควรไปพบคุณหมอในทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้

    • ปวดหัวในระดับที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
    • ปวดหัวจนไม่สามารถคิดอะไรได้
    • ปวดหัวแบบเฉียบพลัน โดยเฉพาะเมื่อมีอาการหลังตื่นนอน
    • บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
    • เป็นไข้ คอแข็ง สับสน หรือความกระตือรือร้นต่อสิ่งตรงหน้าลดลง
    • มีปัญหาในการมอง พูดไม่ชัด อ่อนแรง หรือรู้สึกชาตามร่างกาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 18/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา