backup og meta

รักษาตกขาว มีวิธีไหนบ้างและควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    รักษาตกขาว มีวิธีไหนบ้างและควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ตกขาว คือ ของเหลวหรือเมือกที่ร่างกายหลั่งออกมาทางช่องคลอดตามธรรมชาติ เพื่อให้ช่องคลอดสะอาดและชุ่มชื้น โดยปกติ ตกขาวจะเป็นเมือกใส หรือเป็นสีขาว มีกลิ่นไม่แรง แต่หากตกขาวมีกลิ่นเหม็น เป็นสีเหลือง สีเขียว หรือมีเลือดปน มักเป็นอาการของโรคหรือภาวะสุขภาพที่ผิดปกติ จึงควรสังเกตลักษณะของตกขาวของตนเอง หากพบความผิดปกติ ควรเข้ารับการรักษาตกขาวอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

    ตกขาว คืออะไร

    ตกขาว เป็นของเหลวหรือเมือก ซึ่งหลั่งจากช่องคลอด มดลูก หรือปากมดลูก ทำให้ช่องคลอดสะอาด ชุ่มชื้น และช่วยป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ผ่านเข้าสู่ร่างกาย

    โดยปกติ ตกขาวของผู้ที่มีสุขภาพดี จะมีลักษณะดังนี้

    • สีขาวหรือใส
    • มีกลิ่นจาง ๆ แต่ไม่เหม็น
    • เป็นเมือกเหนียว สัมผัสแล้วให้ความรู้สึกลื่น หยุ่นมือ

    ทั้งนี้ หากตั้งครรภ์ กลิ่นและปริมาณของตกขาวอาจแตกต่างจากเดิม และเมื่ออยู่ในภาวะตกไข่ อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือกำลังมีอารมณ์ทางเพศ ปริมาณของตกขาวมักมีปริมาณมากกว่าปกติ

    ตกขาวผิดปกติ เป็นอย่างไร

    ตกขาวผิดปกติ มักเป็นอาการของโรคหรือปัญหาสุขภาพ ซึ่งความผิดปกติของตกขาวจะสะท้อนสาเหตุของโรคหรือภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้

    • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น เกิดจากภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่อเชื้อแบคทีเรียสะสมเป็นจำนวนมากทำให้เกิดกลิ่นที่รุนแรงขึ้น
    • ตกขาวเป็นสีขาวขุ่นและมีลักษณะเหนียวข้น เกิดจากภาวะเชื้อราในช่องคลอด
    • ตกขาวเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือเป็นฟอง เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่าง โรคพยาธิในช่องคลอด โรคหนองใน โรคหนองในเทียม
    • ตกขาวมีเลือดปน หรือเป็นสีน้ำตาล โดยทั่วไปอาจไม่ใช่อาการผิดปกติ มักพบได้ขณะที่มีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม แม้พบได้น้อย แต่ตกขาวมีเลือดปน อาจแสดงถึงอาการเบื้องต้นของมะเร็งปากมดลูกได้

    ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้ตกขาวมีลักษณะผิดปกติได้ เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์ การรับประทานยาคุมกำเนิด โรคเบาหวาน การใช้ผลิตภัณฑ์ความสะอาดผิวหรือบำรุงผิวที่เปลี่ยนไปจากเดิมไม่ว่าจะเป็น สบู่ โลชั่น บริเวณปากช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดความระคายเคือง

    นอกจากนี้ หากพบว่าตกขาวผิดปกติ ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ดังนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

    • ปวดท้องน้อย
    • พบเลือดไหลจากช่องคลอด
    • ปัสสาวะแสบขัด
    • คันอวัยวะเพศ
    • รู้สึกเจ็บช่องคลอด หรือช่องคลอดบวม

    รักษาตกขาว

    การรักษาตกขาวผิดปกติ ทำได้โดยการรักษาตามสาเหตุที่เป็น ซึ่งอาจหมายถึงโรคหรือภาวะสุขภาพที่ผิดปกติ ด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน ดังต่อไปนี้

    ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

    • รับประทานยาต้านแบคทีเรีย คุณหมอมักจ่ายยาต่อไปนี้ให้ ได้แก่ เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
    • ใช้ยาทาภายในช่องคลอด ซึ่งมักเป็นรูปแบบของครีม เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin)โดยยาชนิดนี้มีฤทธิ์ข้างเคียงที่ทำให้ถุงยางอนามัยซึ่งผลิตจากยางพาราเสื่อมสภาพหรือขาดได้ง่าย หากมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกันควรใช้ถุงยางอนามัยซึ่งทำจากยางสังเคราะห์ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย หากช่องคลอดอักเสบอยู่ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน

    ภาวะเชื้อราที่ช่องคลอด

    • รับประทานยาต้านเชื้อรา
    • ใช้ยาต้านเชื้อราบริเวณช่องคลอด เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ซึ่งอยู่ในรูปแบบของครีม ขี้ผึ้ง หรือยาเหน็บ โดยคุณหมอจะให้คนไข้ใช้ยาดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 7 วัน

    โรคพยาธิในช่องคลอด

    • รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ทินิดาโซล (Tinidazole) หรือ เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านปรสิต

    โรคหนองในแท้

    • ใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน หรือเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ซึ่งใช้รักษาโรคโดยการฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ หากคนไข้แพ้เซฟไตรอะโซน คุณหมอจะฉีดยาเจนตามัยซิน (Gentamicin) ให้แทน

    โรคหนองในเทียม

    • รับประทานยาต้านแบคทีเรีย เช่น อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) โดยคุณหมอจะให้รับประทานทุกวัน เป็นเวลา 5-10 วันติดต่อกัน ซึ่งปกติแล้วการรักษาโรคหนองในเทียมใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

    มะเร็งปากมดลูก

    • ผ่าตัด เพื่อนำเนื้อร้ายออกจากร่างกาย นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายคุณหมออาจเลือกผ่าตัดนำอวัยวะอื่น ๆ ในระบบสืบพันธุ์ออกไปด้วย เช่น มดลูก ปากมดลูก และบางส่วนของช่องคลอด
    • ฉายรังสี สำหรับรายที่ผ่าตัดไม่ได้เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งใช้วิธีการฉายรังสีภายนอกด้วยเครื่องฉายรังสี หรือฉายรังสีภายในโดยการสอดอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าไปในช่องคลอด
    • ใช้ยาเคมีบําบัด หรือยาซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัวและตายไปในที่สุด

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    เพื่อป้องกันการเกิดภาวะตกขาวผิดปกติ สามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง รวมทั้งดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้ออันเป็นสาเหตุของตกขาวผิดปกติ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • รักษาความสะอาดของช่องคลอด ด้วยการชำระล้างบริเวณช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้น้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิปกติร่วมกับการใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง
    • เช็ดทำความสะอาดจากหน้าไปข้างหลัง หลังจากปัสสาวะ ควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อของแบคทีเรียจากทวารหนักมายังช่องคลอด อันเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อได้
    • มีเพศสัมพันธ์โดยป้องกัน ควรให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคพยาธิในช่องคลอด โรคหนองใน โรคหนองในเทียม อันเป็นสาเหตุของตกขาวผิดปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา