backup og meta

ลูกพูดช้า ปัญหาพัฒนาการเด็กที่ไม่ควรมองข้าม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

ลูกพูดช้า ปัญหาพัฒนาการเด็กที่ไม่ควรมองข้าม

โดยทั่วไป เด็กจะเริ่มพูดเป็นคำได้ตอนอายุประมาณ 1 ปี แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่า ลูก พูด ช้า พัฒนาการทางภาษาไม่เป็นไปตามวัย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น บกพร่องทางการได้ยิน บกพร่องทางสติปัญญา สมองพิการ แต่เด็กบางคนก็อาจแค่ยังไม่ต้องการพูดในตอนนี้ และจะยอมพูดเองเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ หากสังเกตว่าลูกพูดช้า หรือมีปัญหาด้านพัฒนาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เรียกแล้วไม่หัน ไม่แสดงท่าทางตกใจเมื่อมีเสียงดัง ควรรีบพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่เป็นไปตามวัย

ภาวะพูดช้า (Delayed Speech) คืออะไร

ภาวะพูดช้า คือ ภาวะที่เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาและการพูดไม่เป็นไปตามวัย มักพบในวัยก่อนวัยเรียน แต่พัฒนาการของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันไป จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กบางคนเริ่มพูดเป็นประโยคสั้น ๆ ได้ช้ากว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน

โดยทั่วไป เด็กอาจมีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารตามช่วงอายุ ดังนี้

อายุ 1 ปี : พัฒนาจากการพูดอ้อแอ้ไม่เป็นภาษามาเป็นคำพูดง่าย ๆ

อายุ 2 ปี : พูดคำที่มีความหมายติดกัน 2 คำ

อายุ 3 ปี : พูดเป็นประโยคสั้น ๆ ระบุส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้

อายุ 4 ปี : เล่าเรื่องง่าย ๆ พูดประโยคได้ครั้งละประมาณ 5 คำ

อายุ 5 ปี : รู้จักตั้งคำถาม เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างวันได้

ลูก พูด ช้า เกิดจากอะไร

ปัญหาลูกพูดช้า อาจเกิดได้จากปัจจัยต่อไปนี้

  • ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหรือเพดานปากของเด็ก อาจทำให้เด็กไม่สามารถเปล่งเสียงและประกอบเป็นคำได้ตามปกติ
  • ปัญหาการได้ยิน เด็กที่มีปัญหาการพูดอาจมีปัญหาการได้ยินเนื่องจากเกิดการติดเชื้อที่หู โดยเฉพาะที่หูชั้นใน จนส่งผลให้หูหนวกหรือได้ยินเสียงไม่ชัดเจน และกระทบต่อการพูด เพราะเด็กไม่สามารถเรียนรู้การใช้ภาษาและเลียนแบบคำพูดจากการฟังได้เหมือนเด็กทั่วไป
  • ภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability หรือ LD) ปัญหาด้านการพูดและการสื่อสาร เช่น ลูกไม่ยอมพูด ลูกพูดช้า อาจเป็นสัญญาณว่าลูกมีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง
  • ความผิดปกติด้านพัฒนาการ เช่น ภาวะสมองพิการ (Cerebral palsy) กลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) อาจทำให้ลูกมีพัฒนาการด้านการพูดล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
  • ภาวะขาดสิ่งกระตุ้น สิ่งแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่สามารถส่งผลต่อการพูดของเด็กได้ หากพ่อแม่ไม่เอาใจใส่ พ่อแม่พูดแทนและไม่ฝึกให้ลูกพูด ก็อาจทำให้ลูกใช้เวลาอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าอยู่กับคนอื่น จนไม่ได้ฝึกฝนด้านการพูดและการสื่อสารอย่างที่ควรเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด

อาการที่เป็นสัญญาณว่าลูกพูดช้า

สัญญาณของปัญหาลูกพูดช้า อาจมีดังนี้

  • ลูกอายุได้ 12-15 เดือนแล้ว แต่ยังไม่พูดคำง่าย ๆ เช่น พ่อ แม่
  • ลูกอายุได้ 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่เริ่มพูดประโยคสั้น ๆ
  • ลูกอายุ 4-5 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเล่าเรื่องหรือนิทานง่าย ๆ ได้

ลูก พูด ช้า รักษาอย่างไร

การรักษาปัญหาลูกพูดช้าอาจแตกต่างไปตามสาเหตุ เด็กที่พูดช้าบางคนอาจแค่ต้องการเวลามากกว่าเด็กคนอื่น ๆ กว่าจะเริ่มพูดคุยได้ ในกรณีนี้ ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เน้นส่งเสริมพัฒนาการด้านการพูดเพื่อกระตุ้นให้เด็กเริ่มพูด เช่น เล่านิทานให้ฟังก่อนนอน เปิดเพลงคำศัพท์ให้ฟังบ่อย ๆ พูดชมเมื่อเด็กพยายามสื่อสาร พูดคำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์กับกิจกรรมที่เด็กกำลังทำ

แต่หากลูกพูดช้าเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ อาจต้องพาลูกไปเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพนั้น ๆ  ร่วมกับรับมือด้วยวิธีดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • อรรถบำบัด (Speech therapy) คุณหมออาจแนะนำให้เด็กรักษากับนักแก้ไขการพูด (Speech-Language Pathologist) ซึ่งจะพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับการสื่อสารของเด็กและพัฒนาการทั่วไป และอาจใช้แบบทดสอบการพูดเพื่อประเมินความสามารถในการพูดของเด็ก บางกรณีอาจมีการทดสอบการฟังด้วย เนื่องจากปัญหาการได้ยินอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสาร
  • การสอนภาษามือ การให้เด็กเรียนรู้วิธีสื่อสารด้วยภาษามือ อาจช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการพูดและการใช้ภาษาที่ดีขึ้นได้
  • การใช้เครื่องช่วยฟัง เด็กที่มีปัญหาสูญเสียการได้ยินอาจใช้เครื่องช่วยฟังหรือผ่าตัดประสาทหูเทียมเพื่อปรับปรุงการได้ยิน เมื่อเด็กได้ยินเสียงพูดก็อาจสามารถพัฒนาการพูดของตัวเองต่อไปได้
  • การบำบัดทางจิตวิทยา คุณหมออาจแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาเด็กไปพบจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านปัญหาพฤติกรรม หรือนักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist) ที่เชี่ยวชาญด้านการนำกิจกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับพฤติกรรมของเด็ก หรืออาจแนะนำให้ปรึกษานักสังคมสงเคราะห์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการแก้ไขปัญหาครอบครัว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา